วิเคราะห์หุ้น bem

แน่นอนว่าถ้าพูดถึงรถไฟฟ้าทุกคนอาจจะคิดถึง BTS แต่ถ้าพูดถึงรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ทุกคนอาจจะยังไม่ทราบว่าใครคือเจ้าของ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักหุ้น BEM ที่เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่คนกรุงเทพหลายแสนคนใช้บริการเป็นประจำทุกวัน

BEM ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อไหร่?

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่เรารู้จัก ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 และได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันเดียวกันนี้เลย และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ วันที่ 11 มิ.ย. 2563 อยู่ที่ 152,850 ล้านบาท โดยการประกอบธุรกิจของบริษัท แบ่งได้เป็น 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจทางพิเศษ ธุรกิจระบบราง และ ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อ หุ้น CK นั่นเอง โดยบริษัท ช.การช่าง ได้ถือหุ้นของ BEM อยู่ 4,787,121,829 หุ้น หรือ 31.32% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยที่เป็นการถือหุ้นที่ต่างฝ่ายต่างได้รับผลตอบแทน เพราะการที่ BEM ได้ CK มาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นทำให้บริษัทได้มีผู้รับเหมาที่มีชื่อเสียงและคุณภาพในการดูแลการก่อสร้างโครงการต่างๆของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น เมกะโปรเจคที่มีมูลค่าสูงและต้องไม่มีข้อผิดพลาด และ CK เองก็ได้รับรายได้จากการจ้างงานของ BEM อีกทีหนึ่ง บวกกับเงินปันผลที่ได้รับจากการถือหุ้น เรียกได้ว่า Win-Win ทั้งคู่

หุ้น BEM ปันผล

ธุรกิจทางพิเศษ หลักๆประกอบไปด้วย ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และ ทางพิเศษอุดรรัถยา ที่ร่วมมือกับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (“กทพ.”) โดย กทพ. เป็น ผู้จัดเก็บค่าผ่านทางทั้งหมดแล้วแบ่งให้ BEM ตามสัดส่วนที่ได้ทำข้อตกลงกันไว้ รายได้ค่าผ่านทางจากทางพิเศษ เฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัชจะถูกนำมารวมกันและแบ่งตามเกณฑ์พื้นที่ คือ โครงข่ายในเขตเมือง 9 ปีแรก BEM ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 60 กทพ. ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 40 สำหรับ 9 ปีสุดท้าย BEM ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 40 กทพ. ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 60 และระยะเวลาระหว่าง 9 ปีแรกและ 9 ปีสุดท้ายได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 50 เท่ากัน ส่วนโครงข่ายนอกเขตเมืองคือทางพิเศษศรีรัช ส่วนซี และส่วนดี รายได้ค่าผ่านทางเป็นของบริษัททั้งหมดตลอดระยะเวลาสัญญา รายได้ที่ได้จากธุรกิจทางพิเศษ ในปี 2562 อยู่ที่ 10,302,412,750 บาท คิดเป็นร้อยละ 50.49 ของสัดส่วนรายได้รวมทั้งบริษัท

ธุรกิจระบบราง โดย BEM เป็นผู้รับสัมปทานการให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจำนวน 2 โครงการ จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (“รฟม”) ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และ โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม ที่คนกรุงเทพใช้จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยที่ให้บริการผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 4 แสนกว่าเที่ยว มีค่าโดยสารเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 10 ล้านบาท และ ในปี 2562 รายได้ธุรกิจระบบราง อยู่ที่ 5,022,100,349 บาท คิดเป็นร้อยละ 24.61 ของสัดส่วนรายได้รวมของบริษัท แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการของธุรกิจระบบรางหรือการขนส่งสาธารณะนั้นมีจำนวนที่ลดลงอย่างมาก จากข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการ ในเดือน เม.ย. 2563 เหลือเพียง 97,000 เที่ยว หรือลดลงกว่า 78% เมื่อเทียบกับช่วงเดือน ม.ค. 2563 ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจระบบรางนั้นหายไปอย่างมาก ต้องรอดูว่าบริษัทจะมีมาตรการอะไรที่จะเรียกความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการให้กลับมาเหมือนเมื่อก่อนได้

ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดย BEM และบริษัทย่อย คือ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (“BMN”) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้แก่ จัดหาและ/หรือจัดทำสื่อโฆษณารูปแบบต่างๆ ในรถไฟฟ้าและในสถานีรถไฟฟ้า, ให้เช่าพื้นที่ร้านค้าในสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและพื้นที่ชั้นใต้ดินของอาคารจอดแล้วจราจรที่สถานีลาดพร้าว, ให้บริการและดูแลรักษาอุปกรณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคมภายในสถานีรถไฟฟ้า นอกจากนี้ ในส่วนของทางพิเศษ BEM และ NECL ได้ให้บริษัทเอกชนและบุคคลใช้พื้นที่ เพื่อดำเนินการในเชิงพาณิชย์เพื่อติดตั้งป้ายรายงานสภาพจราจรและป้ายโฆษณาในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งให้ใช้พื้นที่ทำร้านค้าบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง และการดำเนินธุรกิจอื่นๆ เช่น ใช้พื้นที่ในเขตทางพิเศษเพื่อติดตั้งระบบกระจายสัญญาณ 3G เป็นต้น โดยที่รายได้จากธุรกิจเชิงพาณิชย์ ในปี 2562 อยู่ที่ 782,564,040 บาท คิดเป็นร้อยละ 3.84 สัดส่วนรายได้รวมของบริษัท

“Business opportunities are like buses, there’s always another one coming.” – Richard Branson

อนาคตของบริษัท BEM หลังช่วงวิกฤตไวรัส

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจหลักๆของ BEM ต่างได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตครั้งนี้ เนื่องจากการเดินทางของผู้คนลดน้อยลง มีการจำกัดช่วงเวลาของการเปิด-ปิดทางพิเศษ จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าน้อยลง ปัญหาเหล่านี้กำลังเป็นบททดสอบความแข็งแกร่งของบริษัท ที่จะต้องผ่านไปให้ได้ และต้องปรับตัวให้เข้ากับ New Normal ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ อย่างเช่น การเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคตามจุดต่างๆ การเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉินจากโรดระบาด เพื่อทำให้ผู้ใช้บริการทุกคนเชื่อมั่นในการให้บริการของบริษัท อาจจะรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้ามาอำนวยความสะดวก เช่นการให้ผู้ใช้บริการสแกนตั๋วโดยสารผ่าน QR Code แทนที่จะต้องไปยืนเข้าแถวซื้อตั๋ว ลดการสัมผัสสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น และลดการแออัดของผู้คนในช่วงเวลาเร่งด่วน ในอนาคตนอกเหนือจากการขยายเส้นทางของรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่แล้ว การที่ตั้งนโยบายการรักษาความสะอาดในสถานีก็สำคัญไม่แพ้กันเพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้บริการกลับมา เพราะว่าต่อให้มีรถไฟฟ้าที่ให้บริการมากขึ้น แต่ถ้าจำนวนผู้ใช้บริการลดลง บริษัทก็ไม่สามารถมีกำไรได้ และสำหรับธุรกิจทางพิเศษนั้นเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนพัฒนาโครงการต่างๆสูงมาก บวกกับเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างที่กินเวลานานหลายปี ส่งผลให้กว่าที่โครงการๆหนึ่งจะสามารถคืนทุนได้นั้นกินเวลาค่อนข้างนาน จึงจำเป็นที่จะต้องบริหารกระแสเงินสดให้ดี ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาอาจจะทำให้สามารถลดการจ้างงานลงได้ เพราะว่าค่าใช้จ่ายของการจ้างงานเมื่อเทียบกับการติดตั้งระบบแล้วมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า ยกตัวอย่างเช่นในต่างประเทศ แทบจะไม่เห็นผู้ให้บริการรับจ่ายเงินบนทางด่วนแล้ว เนื่องจากรถยนต์ทุกคันติดตั้งระบบจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์กันหมด ประโยชน์ที่ได้คือ ไม่ต้องห่วงการคอรัปชั่นเงินสดจากพนักงาน ไม่ต้องมานั่งเทียบยอด เอาเงินเข้าบัญชี บวกกับการที่ได้รู้ข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้บริการได้ เก็บข้อมูลไว้เพื่อใช้โฆษณา หรือแม้กระทั่งระบบการใช้เครดิต เช่น การใช้ก่อนเรียกเก็บเงินทีหลัง หรือ สามารถตัดค่าบริการผ่านบัตรเครดิตของลูกค้าได้เลย จะเห็นได้ว่าธุรกิจทางพิเศษยังสามารถต่อยอดได้อีกเยอะ เพื่อที่จะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายและเพิ่มยอดผู้ใช้บริการ

งบการเงิน

BTS หุ้น
หุ้น BEM Pantip

จากงบการเงิน จะสังเกตได้ว่าบริษัทมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 บริษัทถือครองเงินสดไว้มากถึง 6,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า แสดงว่าบริษัทต้องการกระแสเงินสดมาเพื่อหมุนเวียนภายในบริษัท หรือ หาโอกาสลงทุนในช่วงเวลานี้ แต่ที่น่าเป็นกังวัลในตอนนี้คือ ยอดขายในไตรมาสแรกของปี 63 ลดลง จากปี 2562 แต่ต้นทุนขายของบริษัทกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งมีความขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะว่าโดยทั่วไปต้นทุนขายและยอดขายจะสอดคล้องกัน การที่ยอดขายลด แต่ต้นทุนเพิ่ม อาจจะแสดงถึง การขายสินค้าหรือบริการในราคาที่ต่ำลงกว่าปกติ หรือ มีการเพิ่มขึ้นของต้นทุนต่อหนึ่งหน่วยสินค้าและบริการ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นในระยะสั้นคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาวแล้ว บริษัทอาจจะกำลังบริหารต้นทุนได้ไม่ดีพอ ต้องรอติดตามดูว่าในไตรมาสต่อๆไปในปีนี้ หลังผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิดไปแล้ว บริษัทจะสามารถรักษาอัตราการทำกำไรได้ดีอยู่หรือไม่

กราฟเทคนิค

งบการเงิน bem

จากกราฟราคาหุ้น BEM ณ วันที่ 11 มิ.ย. 2563 ราคาลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 15 วันแล้ว และ MACD ตัดลง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ราคาจะปรับตัวลงอีก ให้แนวรับอยู่ที่ 9.5 บาท แถวๆแนวเส้นค่าเฉลี่ย 45 วัน ถ้าสามารถยืนเหนือเส้นนี้ได้ ราคาอาจจะแค่ลงมาพักฐาน แต่ถ้าราคาหุ้นลงมาอย่างรุนแรงจนหลุดเส้นค่าเฉลี่ยแล้ว ให้ระวังว่าราคาอาจจะไหลลงไปแถวๆโซน 8.5 บาท ต้องคอยจับตาดูภาพรวมของตลาดหุ้น การไหลเข้าไหลออกของเงิน ทั้งต่างชาติและกองทุนรวม ถ้าภาพใหญ่ยังเป็นขาลงหรือพักฐาน ให้รอหาจังหวะเข้าซื้อตอนที่ราคาลงมาต่ำและมีสัญญาณกลับตัว อย่ารีบร้อนเข้าไปเล่นในตลาดที่เป็นขาลงหรือกำลังจะพักฐาน เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจุดต่ำสุดที่ราคาจะลงไปได้นั้นคือจุดไหน

AOT หุ้น

ทำไม BEM กับ BTS ถึงต้องแยกจากกัน?

นี่เป็นคำถามที่ผมเองก็ค้างคาใจมานาน เพื่อนชาวต่างชาติที่เคยมาเที่ยวประเทศไทยก็ต่างสงสัยว่าทำไม ระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยถึงแยกออกเป็นหลายส่วน ซึ่งทำให้เกิดความสับสนและยุ่งยากมากกว่าระบบขนส่งสาธารณะในต่างประเทศ ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ การที่ผู้ใช้บริการ ใช้บริการของรถไฟฟ้า BTS แล้วต้องการที่จะต่อสายไปยังรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ผู้ใช้บริการต้องเดินไปต่อแถวซื้อตั๋วโดยสารเพื่อที่จะสามารถเข้าไปยังสถานีได้ แทนที่จะสามารถใช้บัตรใบเดียวในการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะ แต่ผู้ใช้บริการต้องพกบัตรหลายใบทั้ง บัตร BTS บัตร MRT บัตร Airport Link และอื่นๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ บริษัทต่างๆในประเทศไทยควรที่จะร่วมมือกัน และสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถแท็กซี่ รถไฟ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร หรือแม้แต่ วินมอเตอร์ไซค์ ให้สามารถใช้งานอยู่บนระบบเดียวกันได้ โดยผู้ใช้พกบัตรแค่ใบเดียว หรือ ใช้แอปจากมือถือแค่แอปเดียว แล้วสามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศ หนึ่งคือเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน สองคือเพื่อที่จะสามารถเก็บข้อมูลสถิตการใช้งานของผู้ใช้บริการได้ สามคือลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมหาศาล ถ้าเกิดการร่วมมือแบบนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยที่เป็นเมืองท่องเที่ยวอยู่แล้วยิ่งพัฒนาและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาได้อีกเป็นจำนวนมาก

“Every problem is a gift—without problems we would not grow.” – Anthony Robbins

ความคิดเห็นของผู้เขียน

จากการที่ได้ทำการศึกษามา ต้องบอกว่า BEM ถือว่าเป็นบริษัทที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันสูงมาก ถ้าสังเกตจากงบการเงิน สัดส่วนรายได้กว่า 50% นั้นมาจากธุรกิจทางพิเศษ หรือ ทางด่วน ซึ่งไม่มีบริษัทคู่แข่งที่จะสามารถเข้ามาให้บริการนอกเหนือจาก BEM ได้เลย ยิ่งประเทศไทยเติบโตเท่าไหร่ ความต้องการของระบบขนส่งสาธารณะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะว่าประเทศที่มีระบบขนส่งที่ดี ย่อมดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้มากกว่า บวกกับการลงทุนในโครงการต่างๆที่มีภาครัฐคอยสนับสนุน ถือว่าเป็นบริษัทที่น่าสนใจและสามารถลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในระยะยาวได้ดี เข้ากฎเกณฑ์การถือลงทุนเพื่อเน้นคุณค่าได้ 1. ธุรกิจเข้าใจได้ง่าย 2. บริษัทเป็นผู้นำในตลาด 3. ธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต 10-20 ปี 4. บริษัทมีผลประกอบการย้อนหลังที่ดี 5. อื่นๆ ซึ่งจากที่ว่ามานี้ ถ้าบริษัทสามารถปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มเข้ามาจะยิ่งทำให้เพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างมาก เพราะว่ายิ่งมีคนเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น มีข้อมูลในมือมาก มีเงินที่วนอยู่ในระบบมาก ก็จะสามารถสร้างโอกาสจากผลประโยชน์ตรงนี้ได้มากกว่า เช่น การที่บริษัท Starbucks ให้ผู้ใช้บริการเติมเงินเข้ามาในระบบเพื่อใช้ซื้อกาแฟจากทางร้าน พร้อมกับมีส่วนลดต่างๆสำหรับสมาชิกที่ใช้การจ่ายเงินผ่านทางระบบของบริษัท ด้วยการกระทำนี้ส่งผลให้มีเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบของบริษัทเป็นจำนวนมากกว่า หรือเทียบเท่าจำนวนเงินฝากของธนาคารใหญ่ๆของโลกได้เลย และ Starbucks ยังสามารถต่อยอดธุรกิจจากร้านกาแฟไปเป็นผู้ให้บริการทางด้านการเงินได้อีกด้วย จากตัวอย่างที่กล่าวมา ถ้าบริษัท BEM สามารถพัฒนาระบบให้เข้าถึงจำนวนผู้ใช้งานได้ดีและรวดเร็ว ก็จะสามารถต่อยอดธุรกิจจากตรงนี้ได้อีกมหาศาล

ผู้เขียน อภิภู อัครมโนธรรม ที่ปรึกษาการเงิน (IC, Derivative, IP, FChFP license) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Wealth Innovation Consulting จำกัด เจ้าของเพจลงทุน Investonia