ถ้าพูดถึงหุ้น CPALL ในวงการนักลงทุนคงไม่มีใครไม่รู้จัก แต่คนทั่วไปอาจจะไม่รู้จักว่าบริษัทนี้คือใคร แต่ถ้าบอกว่ามันคือร้านสะดวกซื้อที่หันไปทางไหนก็เจอ หรือ 7-Eleven ทุกคนคงร้องเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้จักแน่นอน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของหุ้นที่ได้สร้างอภิมหาเศรษฐีหุ้นในเมืองไทยไปพร้อมๆกัน

หุ้น CPALL หรือ 7-Eleven มีต้นกำเนิดมาจากไหน

คงต้องบอกไว้ก่อนว่า CPALL นั้นเป็นแค่เจ้าของแบรนด์ 7-Eleven แค่ในไทยเท่านั้น แต่ถ้าจะถามว่าแล้วใครเป็นเจ้าของ 7-Eleven ตั้งแต่แรก คงต้องเล่าประวัติย้อนกลับไปในปี 1927 บริษัท Southland Ice ที่ดำเนินกิจการผลิตและขายน้ำแข็งในเมือง Dallas รัฐ Texas สหรัฐอเมริกา ต่อมาบริษัทได้เล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มจำนวนของสินค้าที่นำมาวางขายในร้าน จนกลายมาเป็นร้านสะดวกซื้อ ชื่อว่า Tote’m Store และทำการเพิ่มช่วงเวลาการเปิดร้านเป็น 7am ถึง 11pm ซึ่งได้สร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าเป็นอย่างมาก จนในที่สุดบริษัทก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น 7-Eleven เพื่อให้เป็นเอกลัษณ์ของร้าน ต่อมาในปี 1963 ได้ทำการเปิดบริการเป็น 24 ชม. และยังคงยึดเป็นมาตรฐานมาจนถึงทุกวันนี้ ในช่วงปี 1980-90 บริษัทต้องประสบปัญหาทางการเงิน มีภาระหนี้สิน จะล้มละลาย จนถูกเทคโอเวอร์ในปี 1991 โดย Ito-Yokoda (บริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจร้านค้าปลีก) และ 7-Eleven Japan สุดท้ายในปี 2005 Ito-Yokado ได้ตั้งบริษัท Seven & I Holdings ขึ้น และ 7-Eleven ได้กลายเป็นบริษัทลูกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

MINT หุ้น
Tote’m Store
TISCO หุ้น
7-Eleven ในสหรัฐอเมริกา

7-Eleven เข้ามาในประเทศไทยเมื่อไหร่?

ในปี 1989 7-Eleven สาขาแรกในประเทศไทยได้ถือกำเนิดขึ้น ที่ถนนพัฒน์พงศ์ โดยการซื้อ Franchise 7-Eleven เข้ามาของบริษัท CPALL ของเครือ CP โดยมี เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ อยู่เบื่องหลังการตัดสินใจ เพราะว่าเจ้าสัวได้มองเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาลจากการทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อ จากข้อมูลปี 2562 7-Eleven มีจำนวนสาขารวมทั้งหมด 11,712 สาขาทั้วประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนสาขาเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

การที่ 7-Eleven ขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่อนุญาตให้ประชาชนทั้วไปสามารถเป็นเจ้าของสาขาของ 7-Eleven ได้โดยการซื้อธุรกิจ Franchise จาก CPALL ได้นั่นเอง อย่างที่ทุกคนทราบว่าจำนวนสาขาของ 7-Eleven นั้นเยอะมาก ซึ่งส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ตามเขตชุมชนหรือใจกลางเมือง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมประเทศไทยที่ต้องการความสะดวกสบายมากที่สุด

ซึ่งในอนาคตธุรกิจของ 7-Eleven กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปมหาศาล การมีจำนวนสาขาที่เยอะและจำนวนผู้ที่เข้ามาใช้บริการต่อวันที่สูง ทำให้ 7-Eleven มีอำนาจในการต่อรองกับคู่ค้าอย่างมาก เช่น การรับชำระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคอย่าง ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือ แม้กระทั่งการซื้อบัตรคอนเสิร์ต ก็สามารถทำได้แล้วที่เซเว่นทุกสาขา นอกเหนือไปจากนี้ยังมีการร่วมมือกับธนาคารชั้นนำ เพื่อให้บริการรับ ฝาก ถอน เงินได้ด้วย ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ ธนาคารก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มสาขาด้วยตัวเอง และสามารถปิดสาขาของธนาคารลงได้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะว่าการที่ร่วมมือกับเซเว่นเปรียบเสมือนธนาคารมีสาขาเพิ่มขึ้นทีเดียวกว่า 10,000 สาขา  นอกจากนี้เซเว่นยังพัฒนาแอปของตัวเองเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เช่นการสั่งสินค้าผ่านแอปและพนักงานเซเว่นจะขับไปส่งให้ถึงที่ เพื่อแข่งขันกับธุรกิจรับส่งอาหารอย่าง Grab หรือ Lineman

ก่อกำเนิด บิดาแห่งการลงทุนเน้นคุณค่า

จากที่กล่าวมา บริษัท CPALL ถือว่าเป็นบริษัทที่การทำธุรกิจที่แข็งแกร่งและมั่นคงอย่างมาก เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัย4ของมุนษย์ ตราบใดที่คนยังต้องกินต้องใช้ ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่บริษัทจะล้มละลาย ด้วยพื้นฐานและฐานะทางการเงินของบริษัททำให้นักลงทุนหลายๆคนจับจ้อง แต่การที่จะทำให้ได้เป็นเจ้าของหุ้น CPALL ในปริมาณมากๆนั้นอาจจะต้องให้จำนวนเงินลงทุนที่สูงบวกกับการที่เป็นหุ้นใหญ่ การเคลื่อนไหวจึงไม่ค่อยสูงเหมือนกับหุ้นตัวอื่นๆในเวลานั้น ช่วงเวลาก่อนปี 2540 ตลาดหุ้นไทยเรียกได้ว่าเป็นหมีติดปีก เพราว่าเพียงแค่ช่วงเวลา10ปี ตลาดหุ้นไทยขึ้นจากประมาณ 200จุด ทะยานไป 1,700กว่าจุด พูดง่ายๆคือ หลับหูหลับตาซื้อหุ้นก็สามารถทำกำไรได้ เพราะว่าหุ้นทั้งตลาดแข่งกันทำ All-time high ในช่วงนั้นผู้คนที่รวยจากการลงทุนและกำเนิดเป็นเซียนหุ้นเยอะมาก หลายคนถึงขั้นกู้เงินมาเพื่อซื้อหุ้น แต่ทุกอย่างมีจุดจบเสมอ การที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ทุกบริษัทที่เป็นหนี้ในรูปแบบของเงินดอลล่า ติดหนี้เพิ่มขึ้น 2เท่าในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน เศรษฐกิจประเทศไทยหยุดชะงัก หลายบริษัทล้มละลายเพราะแบกภาระหนี้ไม่ไหว พนักงานตกงาน บางคนถึงกับฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา

BEM หุ้น
มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ‘เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์’

จากเสือตัวที่5ของเอเชีย ตอนนี้ไม่มีใครจำได้แล้ว เหตุเกิดจากความประมาทที่มั่นใจในตัวเองบวกกับความโลภที่มาจากการเก็งกำไรไปเรื่อยๆ ทุกอย่าง ณ ตอนนั้นมืดมัว ไม่มีทางออก แต่แล้ว ก็มีคนคนหนึ่ง ที่มีความกล้าในขณะที่คนอื่นตื่นกลัวจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้น ที่กลับมา 200จุด ในระยะเวลาอันรวดเร็ว หลายคนไม่กล้าแม้แต่จะลงทุนในตลาดหุ้น คนที่ถือหุ้นอยู่ก็ขายหนีเอาตัวรอด หลายบริษัทล้มละลาย ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาเหมือนทุกๆคน

“I always start [investing] from a position of fear.”
– Warren Buffetthttp://www.marketwatch.com/

แต่ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ณ วัย 42ปี ได้ทำการนำเงินเก็บจากการทำงานมาทั้งชีวิต ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เขาวิเคราะห์มาแล้วว่าเป็นธุรกิจที่มั่นคงบวกกับการจ่ายเงินปันผลที่สูง เพื่อที่จะได้มีเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การลงทุนของดร.นิเวศน์นั้นเปรียบเสมือนตัวเขาเป็นเจ้าของกิจการนั้นด้วยตัวเอง เพราะเค้าจะต้องเข้าใจการทำธุรกิจนั้นอย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ หุ้นที่ดร.นิเวศน์ลงทุนมากที่สุดคือ หุ้น CPALL จนมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และด้วยหุ้นตัวนี้แหละที่เปลี่ยนชีวิตของดร.นิเวศน์ไปตลอดกาล

หุ้น PTT
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ด้วยความรักในการลงทุนและการศึกษาข้อมูลธุรกิจอย่างจริงจัง โดยมีนักลงทุนระดับโลกเป็นแนวทางอย่าง Warren Buffett ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาของการลงทุนเน้นคุณค่า ดร.นิเวศน์จึงใช้หลักการนี้เพื่อลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทที่เขาคิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและสามารถยืนอายุได้ยาวนานในตลาดหุ้น โดย ดร.นิเวศน์ เป็นนักลงทุนคนแรกในไทย ณ ช่วงเวลานั้นที่นำหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่าเข้ามาปรับใช้และได้ผลตอบรับที่ดี จนต่อมาได้รับแต่งตั้งโดยนักลงทุนในวงการว่าคือ บิดาของการลงทุนเน้นคุณค่าแห่งประเทศไทย จนขยายแนวความคิดนี้ไปให้กับนักลงทุนท่านอื่นๆจนก่อให้เกิดเซียนหุ้นรุ่นหลังๆสืบต่อมา

จากวันที่ ดร.นิเวศน์ เริ่มลงทุนนั้น ผ่านมา 23 ปี วันนี้พอร์ตการลงทุนของ ดร.นิเวศน์เติบใหญ่จนมีมูลค่าหลายพันล้านบาท

หุ้นที่ ดร.นิเวศน์ และครอบครัว ถือจนมีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีบริษัทอะไรบ้าง?

1. CPALL จำนวนหุ้น 45 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 3,307 ล้านบาท

2. TCAP จำนวนหุ้น 21 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 703 ล้านบาท

3. QH จำนวนหุ้น 350 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 700 ล้านบาท

4. BAFS จำนวนหุ้น 5 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 113 ล้านบาท

5. EASTW จำนวนหุ้น 10 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 100 ล้านบาท

6. METCO จำนวนหุ้น 120,000 หุ้น มูลค่ารวม 15 ล้านบาท

7. BCPG จำนวนหุ้น 12,000,000 หุ้น มูลค่ารวม 195 ล้านบาท

8. BCP จำนวนหุ้น 8,000,000 หุ้น มูลค่ารวม 157 ล้านบาท

9. IRC จำนวนหุ้น 5,400,000 หุ้น มูลค่ารวม 68 ล้านบาท

10. MC จำนวนหุ้น 10,000,000 หุ้น มูลค่ารวม 78 ล้านบาท

รวมมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 5,400 ล้านบาท

จากรายชื่อหุ้นที่ ดร.นิเวศน์ และครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน

ทำให้ในปี 2562 ตัวเขาและครอบครัวได้เงินปันผลรวมกันทั้งหมดกว่า 300 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแล้ววันละเกือบล้านบาท..

งบการเงิน

หุ้น CPF
ผลตอบแทน หุ้น cpall
วิเคราะห์หุ้น cpall

จากงบการเงินเราจะเห็นได้ว่ายอดขายของหุ้น CPALL นั้นเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยที่ประมาณ 8% ต่อปี และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงไตรมาสแรกของปี 63 และปี 62 ถือว่าบริษัทยังคงเพิ่มยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยผลกระทบจากไวรัสโควิค-19 ทำให้ต้นทุนในการขายของบริษัทเพิ่มขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น และมันส่งผลให้กำไรของไตรมาสที่หนึ่งนั้นลดลง แต่ถ้าสถานการณ์ของโรคระบาดนั้นดีขึ้น รัฐบาลสามารถปลดล็อคมาตราการการควบคุมโรคลงได้ จะทำให้ยอดขายของบริษัทกลับมาเติบโตมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน 7-Eleven ไม่สามารถเปิดทำการได้เต็มเวลาหรือ 24 ชม. ได้เหมือนแต่ก่อน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการบริษัท ถึงอย่างนั้นหุ้น CPALL ถือว่ามีพื้นฐานการเงินที่แข็งแกร่งมาก บวกกับการขยายตัวของจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นทุกปี จึงจัดว่าเป็นหุ้น Blue Chip ใน SET50 ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดหรือมีมูลค่าบริษัทสูงที่สุดเพราะว่า อันดับที่ 1 และ 2 เป็นบริษัทรัฐวิสากิจอย่าง PTT และ AOT ตามลำดับ

กราฟหุ้น

ราคาหุ้น cpall ย้อนหลัง 5 ปี

จากกราฟบอกได้ว่าตอนนี้เป็นช่วงของการซึมขึ้นอย่างช้าๆ ราคาหุ้นทำการ Sideway ออกข้างเพื่อสะสม Momentum ใหม่รอการเบรคแนวต้าน เห็นได้จากค่า RSI ที่ระดับ 59 ทำให้หุ้นมีช่วงที่ขึ้นไปได้อีกไม่มากแล้ว ให้ระวังการไหลกลับลงมา แนะนำให้รอจังหวะเข้าซื้อในวันที่ตลาดทำการขายลงมาจากการประกาศงบการเงินของ ไตรมาสที่2 เพราะว่าโดยส่วนมากตลาดจะรับรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าช่วงงบออกและจะแสดงไปในราคาหุ้นเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าความจริงจากออกมาดีกว่าขาด ราคาหุ้นอาจจะปรับตัวเพิ่มเล็กน้อย ถ้าตรงตามที่คาดราคาหุ้นจะปรับลดลงหรือทำการ Sell on fact เนื่องจากตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว แต่ถ้างบการเงินออกมาแย่กว่าที่คาด ราคาหุ้นจะโดนเทขายออกมาอย่างหนัก บวกกับสถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้ไม่มีความแน่นอน แม้ว่าอาจจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหุ้นในไทย แต่การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงอย่างรุนแรงอาจจะทำให้ตลาดหุ้นในไทยได้รับแรงกดดันไปด้วย คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาอาจจะได้รับผลกระทบจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ตกงานที่สูงที่สุดในรอบหลายปี บวกกับการประท้วงที่รุนแรงและอาจจะลุกลามไปเป็นการก่อจารชนหรือสงครามกลางเมืองได้ พวกเรานักลงทุนสายเทคนิดต้องคอยติดตามข่าวสารของโลกอย่างใกล้ชิด เพราะว่ามันจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นที่เราถือหรือไม่ก็อาจจะเป็นโอกาสทำกำไรจากการเทขายของผู้อื่นได้ในช่วงนี้

“ผิดพลาดไม่เป็นไร เป็นการลองผิดลองถูก

แต่เมื่อผิดพลาดต้องรู้ว่าเพราะอะไร แล้วอย่าผิดซ้ำ”

– เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์

ความคิดเห็นของผู้เขียนต่อหุ้น CPALL

จากที่เล่ามาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่น่าลงทุนระยะยาวเหมาะสำหรับนักลงทุนสายเน้นคุณค่า ซึ่งถ้ามองในระยะยาวการที่จะเห็นหุ้น CPALL เติบโตเป็นเรื่องที่เป็นไปได้สูงมาก การมีอำนาจการต่อรองที่สูง การเป็นเบอร์1ในตลาด มีเจ้าสัวที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีบุคลากรที่มากไปด้วยความสามารถ ทำให้บริษัทพร้อมที่จะปรับตัวไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และยังจะคงเป็นเจ้าตลาดกลุ่มค้าปลีกและค้าส่งไปอีกนาน เนื่องจากการที่ CP มีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ เช่น การเข้าซื้อกิจการธุรกิจค้าส่ง Wholesale อย่าง Makro ที่นอกจากจะเป็นเจ้าของการค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว CP ยังได้ที่ดินในส่วนของห้างMakroอีกด้วย แถมยังเป็นการกระจายสินค้าไปยังพ่อค้าแม่ค้าทั่วไปอีกทางหนึ่ง และล่าสุด CP ได้ปิดดีลของ Tesco ที่เสนอขายกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการเอาชนะคู่แข่งต่างๆทั้ง กลุ่มCentral และ กลุ่มBJC โดยการที่เจ้าสัวธนินท์ได้ Tesco มาจะเป็นการเติมเต็มช่องว่าทางการตลาดอย่าง Hypermarket ที่ขาดหายไป ทีนี้ CP ก็จะมีครบทั้ง Wholesale Market, Hypermarket, และ Retailmarket ยากที่จะหาคู่แข่งที่ไหนจะมาต่อกรด้วย ยังไม่รวมไปถึงการกระโดดลงมาเล่นใน Niche market ที่เจาะเฉพาะกลุ่มลูกค้า High-end โดยการลงทุนในอภิมหาโปรเจคอย่าง Icon siam ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยส่วนตัวคิดว่าหุ้น CPALL ยังสามารถเติบโตไปได้อีกไกลมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับองค์กรระดับโลกที่มีเทคโนโลยีก้าวไกล การร่วมทุนพัฒนาโครงการต่างๆ หรือการลงทุนขยายกิจการในต่างประเทศ ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาจะมีกลุ่ม CP เป็นแนวร่วมสำคัญอันดับแรกๆ ถือว่าเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลอันดับแรกๆของประเทศไทยที่รัฐบาลต้องยอมรับฟัง หรือ ห้ามปล่อยให้ล้มเป็นอันขาดเพราะว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ถ้าจะเรียกให้ถูกคือ บริษัทที่ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มได้ Too Big Too Fail..

ผู้เขียน

อภิภู อัครมโนธรรม

ที่ปรึกษาการเงิน (IC, Derivative, IP, FChFP license)

ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Wealth Innovation Consulting จำกัด

เจ้าของเพจลงทุน Investonia