วิเคราะห์หุ้น cpf

ขอบคุณรูปจาก The Standard

ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนต้องรู้จักสินค้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ แบรนด์ CP กันเป็นอย่างดีแน่นอน เพราะว่าบริษัทในเครือ CP นั้นไม่ใช่แค่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับปากท้องของผู้คนตั้งแต่ต้นน้ำจนไปถึงปลายน้ำเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายๆธุรกิจที่เรานั้นคาดไม่ถึงว่าจะมี CP อยู่เบื่องหลัง วันนี้เราจะมาเรียนรู้ว่าอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของ CP นั้นเริ่มมาจากการทำธุรกิจอะไรมาก่อน และ หุ้น CPF เมื่อเทียบกับทั้งอาณาจักรแล้วยิ่งใหญ่แค่ไหน..

จุดเริ่มต้นของอาณาจักรที่มีชื่อว่า CP

หุ้น CPF ปันผล

ภาพจาก cpgroupglobal

พ.ศ. 2464 ช่วงเวลาก่อนที่เจ้าสัวจะถือกำเนิด ณ ร้าน จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักชื่อ “เจียไต๋จึง” หรือ “เจียไต๋” บนถนนทรงสวัสดิ์ ได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดย นายเจี่ย เอ็กชอ และ นายเจี่ย เชี่ยวฮุย ต่อมาทั้งสองได้ขยายกิจการไปยังธุรกิจโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งเริ่มจากการนำเครื่องบดและเครื่องผสมอาหารมาแปรรูปอาหารสัตว์ในโรงจอดรถที่บ้าน จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จจนขยายตัวไปเป็นโรงงานอาหารสัตว์ที่ทันสมัย

จนกระทั่งผู้ที่จะมาเปลี่ยนแปลงอนาคตของบริษัทไปตลอดกาลได้เข้ามา คุณธนินท์ เจียรวนนท์ หรือ นาย เจี่ย ก๊กมิ้น เกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2482 โดยในวัย 25 ปีได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้จัดการทั้วไปของบริษัท และผลงานที่มีชื่อเสียงแรกๆของ คุณธนินท์ ก็คือการบุกเบิกการใช้ไก่พันธุ์ สายพันธุ์ Arbor Acres เเละเริ่มใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนเป็นครั้งเเรกในประเทศไทย ในปี 2513 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะว่าคนไทยสมัยก่อนเลี้ยงไก่ในระบบเปิด ทำให้ควบคุมผลผลิตและคุณภาพได้ยาก การเลี้ยงไก่ในโรงเรือนจะทำให้สามารถควมคุมและแก้ปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงไก่แบบดั่งเดิมได้ดีขึ้น ต่อมาอีก 3 ปี บริษัทได้สร้างโรงงานอาหารสัตว์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จนกระทั่งในปี 2519 ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เพื่อเป็นบริษัทหลักในการบริหารกิจการ ที่ขยายออกไปทั้งในและต่างประเทศ และประเทศแรกที่บริษัทเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะเข้าไปขยายธุรกิจร่วมด้วยนั่นก็คือ ประเทศจีน โดยบริษัทได้ร่วมลงทุนกับบริษัท คอนติเนนตัล เกรน ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งบริษัท ‘เจียไต๋คอนติ’ (Chia Tai Conti) ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง โดยเครือฯ ได้ใช้ชื่อ ‘เจียไต๋’ (สำเนียงแต้จิ๋ว) หรือ ‘เจิ้งต้า’ (สำเนียงจีนกลาง) ซึ่งแปลว่าซื่อตรง ซื่อสัตย์ ยุติธรรม และเที่ยงตรง เป็นชื่อในการลงทุนที่ประเทศจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และที่สำคัญยังเป็นบริษัทต่างชาติรายเเรกที่ได้รับอนุญาต ให้ลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหมายเลข 0001 ดำเนินกิจการโรงงานอาหารสัตว์ ณ เมืองเซินเจิ้น ซึ่งถือว่าคุณ ธนินท์ นั้นต้องแสดงถึงศักยภาพของบริษัทและได้สร้างความสัมพันธ์อันดีงามไว้กับคนจีนอย่างมาก ถึงได้รับการยอมรับจากทางรัฐบาลจีนมาได้ และต่อมาหลังจากนั้นบริษัทยังได้ไปร่วมลงทุนธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศต่างๆอีกมากมาย

จนกระทั่งในปี 2531 บริษัทได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกและการกระจายสินค้า เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพของสินค้าสด ส่งเสริมและเป็นช่องทางจำหน่ายของผู้ประกอบการ SMEs โดยจัดตั้ง บริษัท ซี.พี. เซเว่น อีเลฟเว่น จำกัด ดำเนินธุรกิจค้าปลีกโดยเปิดร้านสะดวกซื้อภายใต้ชื่อร้าน เซเว่น อีเลฟเว่นและศูนย์จำหน่ายสินค้าค้าส่งภายใต้ชื่อ แม็คโคร หลังจากประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องทั้งในธุรกิจด้านอาหารสัตว์ และค้าปลีก คุณธนินท์ ได้เล็งเห็นถึงการเติบโตในธุรกิจสื่อสาร

โดยในปี 2533 จึงได้ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านโทรคมนาคมของประเทศไทย ทำให้การใช้โทรศัพท์พื้นฐานแพร่หลาย และเติบโตเป็นบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ในปีเดียวกันนี้บริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัท เมจิ จำกัด ของประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรซ์ ในประเทศไทย หลังจากนั้น เจ้าสัวธนินท์ ยังคงเดินหน้าสร้างอาณาจักรของเครือเจริญโภคภัณฑ์ออกไปเรื่อยๆ

“ถ้าคุณทำ 10 อย่าง สำเร็จเพียง 3 อย่าง ก็ถือว่าเก่งแล้ว คนยิ่งทำเยอะก็ยิ่งผิดเยอะ แต่คนที่ไม่เคยทำผิด คือคนที่ไม่คิดทำอะไรเลย” – ธนินท์ เจียรวนนท์

อาณาจักรของเจ้าสัวธนินท์ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

หุ้น CPALL

ขอบคุณภาพจาก brandinside

ในปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นบริษัทแม่ ดำเนินกิจกรรมในลักษณะบริษัท Holding Company ถือหุ้นบริษัทในเครือฯ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ โดยสามารถแบ่งประเภท ธุรกิจออกเป็น 8 สายธุรกิจหลัก ครอบคลุม 13 กลุ่มธุรกิจย่อย ปัจจุบัน มีการลงทุนอยู่ใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ

โดยธุรกิจหลักทั้ง 8 สายประกอบไปด้วย

1) ธุรกิจการเกษตร และอาหาร

2) ธุรกิจค้าปลีก

3) การสื่อสารและโทรคมนาคม

4) ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิทัล

5) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

6) ธุรกิจยานยนต์

7) ธุรกิจเวชภัณฑ์

8) ธุรกิจการเงินและการธนาคาร

ธุรกิจการเกษตรและอาหาร

1.CHIA TAI CO., LTD. บริษัท เจียไต๋ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยตรากระต่าย เมล็ดพันธุ์ตราเครื่องบิน เมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวตราโฮมการ์เด้น และผลิตภัณฑ์อารักขาพืชตราช่อฟ้าและตราเจียไต๋ มีธุรกิจหลักคือ ผลิตและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช รวมไปถึงอุปกรณ์เกษตรและโรงเรือน และธุรกิจผักผลไม้สด มีรายได้ 17,456 ล้านบาท เป็นกำไร 1,249 ล้านบาท

2.FEED INGREDIENTS TRADING ทำธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์

3.CHAROEN POKPHAND FOOD PLC. บริษัทนี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ชื่อย่อว่า CPF ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ตั้งแต่ ผลิตอาหารสัตว์ เพาะพันธุ์สัตว์ เลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า แปรรูปเนื้อสัตว์ขั้นพื้นฐาน ผลิตสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารสำเร็จรูป รวมถึงช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบร้านค้าปลีกและร้านอาหาร ตัวอย่างแบรนด์ที่อยู่ภายใต้บริษัทก็มี ผลิตภัณฑ์อาหารตรา CP ไส้กรอกตรา BKP ร้านอาหาร CHESTER’S GRILL ไก่ย่างห้าดาว และนมตรา MEIJI บริษัทมีรายได้ 464,465 ล้านบาท เป็นกำไร 14,703 ล้านบาท

4.C.P. INTERTRADE CO., LTD. ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ นำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงอาหารและข้าว มีรายได้ 12,717 ล้านบาท เป็นกำไร 15.65 ล้านบาท

5.THAI RICE CO., LTD. บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด ทำธุรกิจข้าวครบวงจร ผู้ผลิต ข้าวตราฉัตร มีรายได้ 15,123 ล้านบาท เป็นกำไร 28.52 ล้านบาท

ธุรกิจค้าปลีก

1.CP ALL PLC. บริษัทนี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ชื่อย่อว่า CPALL ธุรกิจหลักคือการค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อในชื่อ 7-Eleven และยังประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่สนับสนุนธุรกิจหลัก เช่น ผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป ตัวแทนรับชำระค่าสินค้าและบริการ Counter Service กาแฟและเบเกอรี่อย่าง Bellinee’s Bake&Brew คัดสรร และ All Cafe บริการขนส่งและกระจายสินค้า Dynamic Management ธุรกิจจำหน่ายสินค้าผ่านแคตตาล็อกและอีคอมเมิร์ซ 24 Shopping รวมไปถึง สถาบันการศึกษาด้านการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มีรายได้รวม 434,712 ล้านบาท เป็นกำไร 16,677 ล้านบาท

2.C.P. LOTUS บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (121:HK) ประกอบกิจการร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตในจีน ในชื่อ LOTUS มีรายได้ 50,328 ล้านบาท ขาดทุน 2,683 ล้านบาท

3.SIAM MAKRO CO., LTD. ประกอบธุรกิจค้าส่ง โดยดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค ภายใต้ชื่อ MAKRO มีรายได้รวม 172,790 ล้านบาท เป็นกำไร 5,412 ล้านบาท

4.SHANGHAI KINGHILL เป็นเจ้าของและผู้พัฒนาศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ Super Brand Mall ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

ธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม

1.TRUE CORPORATION ประกอบธุรกิจหลักคือ True Online ให้บริการอินเตอร์เน็ต รายได้รวม 28,300 ล้านบาท กำไร 3,704 ล้านบาท True Move H ให้บริการโทรศัพท์มือถือ รายได้รวม 93,876 ล้านบาท ขาดทุน 4,878 ล้านบาท True Vision ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก รายได้รวม 12,406 ล้านบาท ขาดทุน 1,375 ล้านบาท และธุรกิจอื่นๆ อย่าง ร้านกาแฟ True Coffee และ มีร้านค้าออนไลน์ wemall และ iTrueMart ไม่แน่ใจว่าธุรกิจร้านค้าออนไลน์โยกไปในบริษัทใหม่ที่ทำอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะชื่อ ASCEND GROUP แล้วหรือยัง เมื่อรวมกับรายการระหว่างกันแล้ว ทรูคอร์เปอเรชั่น มีรายได้รวม 124,719 ล้านบาท ขาดทุน 2,807 ล้านบาท

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิทัล

1.ASCEND GROUP ประกอบธุรกิจไอทีต่างๆ เช่น ร้านค้าออนไลน์ บริการบัตรเงินสด และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง TrueMoney และ WeLoveShopping มีรายได้ 551 ล้านบาท เป็นกำไร 27 ล้านบาท

2.PANTAVANIJ บริษัท พันธวณิช ให้บริการที่ปรึกษาด้านการจัดซื้อและบริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับองค์กร มีรายได้ 452 ล้านบาท เป็นกำไร 165 ล้านบาท

ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

1.CP LAND ประกอบธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้เช่า (พื้นที่ประกอบธุรกิจ) และขาย (ที่อยู่อาศัย) รวมไปถึงให้บริการบริหารจัดการอาคาร เป็นเจ้าของโครงการอย่าง ซี.พี.ทาวเวอร์ ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ และโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน มีรายได้ 2,803 ล้านบาท เป็นกำไร 534 ล้านบาท และยังมีบริษัทแมกโนเลีย บริษัทของลูกสาวของคุณธนินท์ ที่ร่วมกับสยามพิวรรธน์ ทำโครงการสุดหรู ไอคอนสยาม ที่ริมแม่น้ำเจริญนครอีกด้วย

ธุรกิจยานยนต์

1.SAIC-CP MOTOR CO., LTD. บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี เป็นบริษัทร่วมทุนกับผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ MG เพื่อจำหน่ายในไทยและอาเซียน มีรายได้รวม 4,158 ล้านบาท ขาดทุน 2,461 ล้านบาท

2.LUOYANG NORTHERN EK CHOR ประกอบธุรกิจด้านการผลิต จัดจำหน่าย และส่งออกมอเตอร์ไซค์ในประเทศจีน ภายใต้แบรนด์ DAYANG

ธุรกิจเวชภัณฑ์

1.SINO BIOPHARMACEUTICAL LIMITED จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (1177:HK) ประกอบธุรกิจวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงผลิต และจัดจำหน่ายยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและสมองในประเทศจีน มีรายได้ 67,258 ล้านบาท เป็นกำไร 13,550 ล้านบาท

ธุรกิจการเงินและการธนาคาร

1.ZHENGXIN BANK CO., LTD. ประกอบธุรกิจด้านการเงินการธนาคารสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

2.PING AN INSURANCE (GROUP) COMPANY OF CHINA, LTD กลุ่มบริษัทในประเทศจีนที่ CP เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง (2318:HK, 601318:SH) ให้บริการด้านการเงินตั้งแต่ ประกันทุกชนิด การธนาคาร ไปจนถึงการลงทุน มีรายได้รวม 3.87 ล้านล้านบาท เป็นกำไร 361,116 ล้านบาท

บริษัทอื่นๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

1.C.P. POKPHAND CO. LTD บริษัทย่อยของ CPF จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (0043:HK) ดำเนินกิจการอยู่ในกลุ่มการเกษตรและอาหาร ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจอาหารสัตว์ มีรายได้ 175,600 ล้านบาท เป็นกำไร 10,955 ล้านบาท โดยรายได้ทั้งหมดมาจากจีนและเวียดนาม

2.PT CHAROEN POKPHAND INDONESIA Tbk จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย (CPIN:INDO) โดยมีธุรกิจหลักคือ อุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ แปรรูปและจำหน่ายเนื้อไก่และเนื้อวัว มีรายได้ 95,642 ล้านบาท เป็นกำไร 5,564 ล้านบาท (คิดด้วยอัตรา 1 บาท : 400 รูเปียอินโด)

3.CHIA TAI ENTERPRISES INTERNATIONAL LIMITED บริษัทย่อยของ CPF จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (3839:HK) มีธุรกิจหลักคือ ด้านอุตสาหกรรมและเคมีชีวภาพ โดยเป็นผู้ผลิต Chlortetracycline (CTC) สำหรับใช้ในการเลี้ยงปศุสัตว์ ใช้รักษาและป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรีย มีรายได้รวม 2,902 ล้านบาท เป็นกำไร 368 ล้านบาท

4.CHAROEN POKPHAND ENTERPRISE TAIWAN CO., LTD. บริษัทย่อยของ CPF จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน (1215:TAI) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ เนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารแปรรูป มีรายได้ 19,990 ล้านบาท เป็นกำไร 1,388 ล้านบาท ซึ่งถ้ารวมรายได้ทั้งหมดทุกบริษัท รายได้โดยประมาณจากบริษัทย่อยและบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์คือ 5,527,711,000,000 บาท หรือประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท และเป็นกำไรทั้งหมด 4.2 แสนล้านบาท ถ้าเปรียบเทียบรายได้จากธุรกิจทั้งหมดของเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็น GDP ของประเทศ จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า GDP ของประเทศ Hungary ทั้งประเทศ

CPF เปรียบเสมือนลูกชายคนโต?

CPF หุ้น

ภาพจาก Wealthy Thai

จากที่กล่าวมานั้น ทำให้เรารู้ได้ว่า ธุรกิจที่เป็นเส้นเลือดหลักๆของเครือเจริญโภคภัณฑ์มาจาก ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจสัตว์เลี้ยง และ ธุรกิจอาหาร ที่บริหารโดยบริษัท CPF นั่นเอง นอกจากนั้นเจ้าสัวธนินท์ยังได้นำเอา CPF เข้าไปถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทค้าปลีกอย่าง CPALL อีกด้วย ถึงแม้ว่ารายได้ที่เกิดจาก CPF จะคิดเป็นเพียงแค่ 10% ของทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ทั้งหมดของอาณาจักร มาจากบริษัทที่มีชื่อว่า CPF

จากข้อมูล ณ ปี 2020 CPF มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 262,642 ล้านบาท CPALL มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 633,308 ล้านบาท

โดยที่ CPF ได้เข้าไปลงทุนทางอ้อมผ่าน บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่ CPF ถือหุ้นอยู่ 99% และได้ใช้บริษัทนี้เข้าไปถือหุ้นต่างๆในตลาดหลักทรัพย์อีกทีหนึ่ง โดยจากข้อมูล ณ ปี 2020 บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ได้ถือหุ้นใน CPALL อยู่ถึง 30.17% คิดเป็นมูลค่ากว่า 191,099,358,600 บาท หรือ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าใกล้เคียงกับมูลค่าของ CPF ทั้งบริษัท ใน 1 ปี CPF จะได้เงินปันผลจาก CPALL สูงถึง 3.3 พันล้านบาท แต่เนื่องจาก CPF ยังมีบริษัทย่อยอีกหลายบริษัททำให้แหล่งที่มาของรายได้นั้นมาจากอีกหลายช่องทาง เราจะพาทุกท่านไปดูงบการเงินของ CPF กัน

งบการเงิน

หุ้น CPN
ประชุมผู้ถือหุ้น cpf

จากงบการเงิน จุดแรกที่อยากให้สังเกตคือจำนวนเงินสดที่บริษัทถือครองอยู่ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ที่เพิ่มขึ้นมามากกว่า 2 เท่าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายๆบริษัทต้องสำรองเงินสดไว้เพื่อหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การที่ถือเงินสดไว้จำนวนมากอาจจะทำให้มีค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น จากการที่ไม่ได้เอาเงินสดไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า จากงบการเงินของบริษัทในปี 2563 ถึงแม้จะยังประสบปัญหาไวรัสอยู่ แต่ยอดขายของบริษัทกลับเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 เพราะว่าตัวบริษัทดำเนินกิจการที่ได้รับผลกระทบน้อยจากวิกฤตในครั้งนี้ บวกกับการที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้เกิดการกักตุนอาหารกันเป็นจำนวนมาก ผู้ผลิตเนื้อสัตว์และอาหารอย่างบริษัท CPF จึงได้รับผลกระทบในเชิงบวก ทำให้กำไรสุทธิและกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงตามตลาด แต่ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น ส่งผลให้ค่า P/E ของหุ้น CPF ลงมาอยู่ที่ 12.92 เท่า ซึ่งต่ำกว่า P/E ของกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน

กราฟเทคนิค

หุ้น PTT

จากกราฟราคาหุ้นของ CPF จะเห็นได้ว่าหลังผ่านวิกฤตไวรัสที่ราคาหุ้นลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 18.70 บาท หลังจากนั้นราคาดีดกลับมาอย่างรวดเร็วและขึ้นไปทำยอดสูงสุดที่ 33.75 บาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 80% แต่ถ้าสังเกตให้ดีที่กราฟแท่งเทียนของวันที่ทำจุดสูงสุด แท่งเทียนมีไส้ยาวขึ้นด้านบน และลงมาปิดที่ราคาต่ำสุดของวัน แสดงให้เห็นถึงแรงขายที่มีเข้ามาอย่างมหาศาล ตามทฤษฎีแสดงให้เห็นว่าราคาหุ้นกำลังจะปรับตัวลง และในอีก 2 วันต่อมา ราคาก็ไหลลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 15 วัน ณ ตอนนี้ วันที่ 13 มิ.ย. 63 ต้องรอดูว่าราคาจะไปในทิศทางไหน โดยให้เอาเส้นค่าเฉลี่ย 15 วันมาเป็นแนวต้าน ถ้าสามารถกลับไปยืนเหนือได้ ก็จะมีโอกาสที่ราคาจะกลับขึ้นไปต่อ แต่ถ้าราคายังลงอย่างต่อเนื่อง ให้เอาเส้นค่าเฉลี่ย 45 วันมาเป็นแนวรับสำคัญ ส่วนตัวคิดว่าราคาไม่น่าจะไหลลงมาอย่างรุนแรงเหมือนครั้งก่อนๆ เพราะว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมารุนแรง แต่ราคาหุ้น CPF ลงเพียงเล็กน้อย และยังมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีกในอนาคต เนื่องจากงบการเงินที่ออกมาดีกว่าที่นักลงทุนคาด

ประวัติและแนวความคิดของ เจ้าสัวธนินท์ ?

หุ้น BTS

ภาพจาก highlight.kapook.com

คุณ ธนินท์ เจียรวนนท์ หรือ เจ้าสัวธนินท์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานอาวุโสของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นเศรษฐีอับดับ 1 ของประเทศไทย มีทรัพย์สิน 4.5 แสนล้านบาท ร่ำรวยเป็นอันดับที่ 75 ของโลก จากบทความเราจะเห็นว่าคุณธนินท์เป็นผู้ปลุกปั้นบริษัททั้งหมดขึ้นมาด้วยตัวเอง ทำให้เห็นถึงความสำคัญของผู้ที่จะเข้ามาบริหารงานในธุรกิจต่างๆของเครือ การที่จะเข้ามาสืบทอดกิจการที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้สำหรับทายาทนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและกดดันเป็นอย่างมาก เพราะว่าก่อนที่จะเข้ามานั่งเป็นผู้บริหารของเครือได้นั้น ต้องได้รับการยอมรับจากคุณธนินท์และคณะกรรมการอาวุโสเสียก่อน โดยที่จะต้องพิสูจน์ความสามารถด้วยการไปก่อตั้งบริษัทที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจดั้งเดิมของเครือ แล้วบริหารจากศูนย์จนประสบความสำเร็จให้ได้ก่อนถึงจะสามารถเข้ามาบริหารธุรกิจหลักของเครือได้ นี่คือการสอนลูกๆหลานๆของผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ ที่ไม่ต้องการให้ลูกหลานยึดติดกับความร่ำรวยและความสบาย เพราะว่าถ้าไม่เคยเรียนรู้ปัญหาจากการทำธุรกิจจริงๆ ก็คงไม่สามารถมานั่งบริหารกิจการขนาดใหญ่อย่าง CP ได้ โดยคุณธนินท์เชื่อว่าความลำบากจะเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในอนาคต

“Intelligent people need a fool to lead them. When the team’s all a bunch of scientists, it is best to have a peasant lead the way. His way of thinking is different. It’s easier to win if you have people seeing things from different perspectives.” – Jack Ma

ความคิดเห็นของผู้เขียนต่อหุ้น CPF

ต้องขอบอกก่อนว่าประวัติของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นน่าสนใจมาก ซึ่งจริงๆแล้วยังมีรายละเอียดที่มันซับซ้อนกว่านี้อีกมาก และมันยิ่งทำให้บริษัทที่ดูเหมือนว่าเราได้ใกล้ชิดและผูกพันมานาน จริงๆแล้วมีความลับต่างๆให้เราได้ค้นหาอีกมากมาย แต่ต้องยอมรับวิสัยทัศน์ในการบริหารและการขยายธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์นั้นมองขาดในทุกๆโอกาสที่เข้ามา เริ่มจากการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 อย่าง อาหารการกินที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทว่า “ต้องการที่จะเป็นครัวของโลก” ผ่านการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เจ้าสัวธนินท์และมหาเศรษฐีอย่าง Jack Ma เคยพูดเหมือนกันว่า “พวกเขาไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดในบริษัท ไม่สามารถทำงานได้ดีในทุกเรื่อง แต่พวกเขาสามารถโน้มน้าวให้คนที่เก่งกว่าเข้ามาทำงานให้เขาได้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อายุเริ่มเข้าใกล้วัยเกษียณ พวกเขาจะคอยสนับสนุนคนที่มีความสามารถที่ยังมีอายุน้อยให้ขึ้นมาบริหารกิจการแทนพวกเขา เนื่องจากเจ้าของกิจการไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่คือคนที่วิสัยทัศน์ที่ดีและมองเห็นโอกาสมากที่สุด” เปรียบเสมือนโค้ชทีมฟุตบอลที่เก่งกาจ สามารถทำให้ทีมคว้าแชมป์มาครองได้ โดยที่ตัวเองไม่ได้ลงไปเตะบอลด้วยเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นบุคคลที่นั่งดูภาพรวมของเกมมองหา จังหวะและโอกาสที่เกิดขึ้นจากอีกมุมมองหนึ่งที่นักเตะไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งนักเตะแต่ละคนอาจจะมีความสามารถในการเล่นฟุตบอลได้ดีกว่าโค้ชหลายเท่า แต่ทุกคนก็ยังต้องเชื่อฟังคำสั่งของโค้ช เพราะว่าโค้ชที่ดีจะสามารถทำให้นักเตะแต่ละคนดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้ดีที่สุดถ้าอยู่ในตำแหน่งและช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อนำพาทีมหรือบริษัทไปสู่จุดสูงสุดให้ได้

ผู้เขียน อภิภู อัครมโนธรรม ที่ปรึกษาการเงิน (IC, Derivative, IP, FChFP license) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Wealth Innovation Consulting จำกัด เจ้าของเพจลงทุน Investonia