ผู้ถือหุ้น DOHOME

ภาพจาก kaohoon

สำหรับคนที่ยังไม่เคยคลุกคลีอยู่กับวงการก่อสร้างหรือตกแต่งบ้านอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อของบริษัท ดูโฮมหรือหุ้น DOHOME ที่เป็นผู้ค้าสินค้าวัดสุก่อสร้างรายใหญ่ในประเทศไทย เนื่องจากบริษัทยังถือว่าเป็นน้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่จากประสบการณ์ในวงการวัสดุก่อสร้างที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน และความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ก่อตั้ง ที่จะทำให้ประชาชนคนไทยได้ใช้สินค้าที่ดีในราคาที่ถูก ทำให้บริษัท ดูโฮม ยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้อีกมาก วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจธุรกิจสินค้าวัสดุก่อสร้าง หุ้น dohome ที่เปรียบเสมือนหัวใจของการก่อสร้างโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในบทความนี้กันครับ

ประวัติโดยย่อของ หุ้น DOHOME

หุ้น DOHOME ปันผล

ภาพจาก hooninside

DOHOME หรือ บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นโดยนายอดิศักดิ์ ตั้งมิตรประชา และนางนาตยา ตั้งมิตรประชา ในปี 2526 ภายใต้ชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. อุบลวัสดุ เพื่อจำหน่ายสินค้าจำพวกเหล็ก วัสดุมุงหลังคา ไม้อัด และสินค้าวัสดุก่อสร้าง มีที่ตั้งอยู่ที่ถนนสรรพสิทธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จากแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยการขายสินค้าคุณภาพดี ราคาถูก และหลากหลาย ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นบริษัท มีการเปิดดำเนินการสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยได้ขยายสาขาไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน บริษัท มีสาขาที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 9 สาขา และศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) 1 แห่ง ปัจจุบันบริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง และให้บริการด้านวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 หรือระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี ซึ่งในปัจจุบันมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 17,540 ล้านบาท

ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างในประเทศไทย

ต้องยอมรับว่าธุรกิจวัสดุก่อสร้างนั้นเป็นรากฐานสำคัญในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่างๆของภาครัฐ หรือ โครงการของภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และ SMEs ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างของไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 500,000 ล้านบาท หากจำแนกร้านค้าวัสดุก่อสร้างตามลักษณะการจำหน่ายและ รูปแบบการให้บริการ สามารถแบ่งออกเป็นร้านค้าวัสดุก่อสร้างดั้งเดิม และร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ ท้ังนี้พบว่าจากผู้ประกอบการท้ังหมดเกือบ 25,000 ราย มีผู้ประกอบการ 7 ราย ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่และเป็นร้านค้าสมัยใหม่ ได้แก่ กลุ่มโฮมโปร (ร้านโฮมโปร เน้นขายปลีกและเมกาโฮม เน้นขายส่ง) บุญถาวร ไทวัสดุ สยามโกลบอลเฮาส์ ดูโฮม แกรนด์โฮมมาร์ท โฮมฮับ และ ยงเฮาส์ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 20% ของรายได้รวมในกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างท้ังหมด ที่เหลือเป็นร้านวัสดุก่อสร้างดั้งเดิมซึ่งแบ่งเป็นร้านค้าส่ง 17,000 ราย และร้านค้าปลีก 7,800 ราย โดยส่วนมากเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก

ข่าวหุ้น dohome

Rank Company Market Share Business (%) / Type 1 Home Product Center 9.2 / Modern 2 CRC Thai Watsadu 3.1 / Modern 3 Siam Global House 3.0 / Modern 4 Dohome 2.7 / Modern 5 Boonthavorn Group 2.1 / Modern 6 Mega Home Center 1.0 / Modern 7 Grand Home Mart 0.6 / Modern 8 Hardware house 0.5 / Traditional 9 Home Hub 0.4 / Modern 10 Rojpaiboon 0.4 / Traditional

สำหรับภาวะการแข่งขันของผู้ประกอบการในตลาดมีค่อนข้างสูง ทั้งจาก กลุ่มธุรกิจโมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างที่เป็น Home Center ด้วยกันเอง และจากกลุ่มร้านค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Stores) เช่น แกรนด์โฮมมาร์ท และซีเมนต์ไทยโฮมมาร์ท ที่เน้นจำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่าง เช่น สินค้าเซรามิค สุขภัณฑ์ ชุดครัว เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าตกแต่งบ้าน รวมถึงผู้ค้าปลีกวัสดุก่อสร้างทั่วไป จึงทำให้มีการแข่งขันในบางสายผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ แม้ว่าการแข่งขันจะค่อนข้างสูงแต่ผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างยังคงมีการเติบโตของผลประกอบการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับ ผู้ประกอบการค้าปลีกวัสดุก่อสร้างรายเล็กที่เป็นแบบร้านค้าดั้งเดิมต้องเผชิญกับยอดขายที่ปรับตัวลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

We must work towards solutions that make housing, transportation, the workforce, and higher education more equitable -Beto O’Rourke

งบการเงิน

หุ้น HMPRO
หุ้น DOHOME Pantip

จากงบการเงิน

จะเห็นได้ว่ารายได้ของบริษัทเริ่มชะลอตัวลงมีการเติบโตที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆมา ซึ่งทำให้ทราบว่า ณ ปัจจุบันบริษัทมียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท และยังไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้ บวกกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ยอดขายไตรมาสแรกของปี 2563 ลงลดอีกเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้กำไรของบริษัทได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างที่ได้กล่าวมาบริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากการจัดเก็บสินค้า จากงบการเงินสินค้าคงเหลือของบริษัทในต้นปี 63 เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะจัดอยู่ในประเภทสินทรัพย์ แต่จริงๆแล้วมันคือ Inventory ของบริษัท และสิ่งที่ตามมาด้วยนั่นก็คือต้นทุนค่าจัดเก็บรักษา ยิ่งมีสินค้าคงเหลือมากเท่าไหร่ยิ่งไม่ดีต่อภาพรวมบริษัท บวกกับการที่บริษัทมีส่วนของที่ดินมากขึ้น นั่นหมายความว่าบริษัทตั้งใจที่จะขยายสาขาเพื่อเพิ่มยอดขาย และจำเป็นที่จะต้องใช้เงินสดในการหมุนเวียนอย่างมาก ส่งผลให้เงินสดของบริษัทในปี 63 ลดน้อยลงมาอยู่ที่ 80 ล้านบาท จาก 167 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 62 หรือลดลงกว่า 50% ซึ่งในช่วงวิกฤตแบบนี้การที่มีเงินสดอยู่ในมือมากจะได้เปรียบ ต้องมารอดูว่าผู้บริหารของบริษัทจะจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะธุรกิจวัสดุก่อสร้างที่จำเป็นที่จะต้องมีเงินสดหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาเพื่อซื้อขายสินค้ากับทั้ง Supplier และ ลูกค้า

กราฟ

หุ้น dohome

จากกราฟ จะเห็นได้ว่าหลังผ่านพ้นช่วงวิกฤตที่ตลาดหุ้นโดน Circuit Breaker ไปถึง 2 วันติด ราคาหุ้น DOHOME ได้พุ่งทะยานขึ้นมาแล้วกว่า 150% และยังมีแนวโน้มที่จะไปได้ต่อ เนื่องจากราคายังไม่ตัดเส้นค่าเฉลี่ย 15 วันลงมา แต่ค่า RSI นั้นแสดงให้เห็นถึง การ Overbought แล้วให้ระวัง การที่ราคาขึ้นมาขนาดนี้ในอนาคตบริษัทอาจจะมีข่าวออกมาเพื่อยืนยันการขึ้นให้ผู้เล่นรายย่อยเข้ามาซื้อไล่ราคา และจังหวะนี้คนที่มีหุ้นอยู่ในมือที่ต้นทุนถูกกว่าก็จะขายเพื่อทำกำไร เนื่องจากราคาตอนนี้ ค่า P/E ของหุ้นอยู่ที่ 31.19 เท่า สูงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีค่า P/E ที่ 26.02 เท่า แสดงว่าราคาหุ้นตอนนี้แพงกว่ากลุ่ม ถ้าในอนาคตไม่มีข่าวออกมาว่าจะมีโครงการใหม่ๆออกมา อาจจะทำให้ราคากลับลงมาสู่ที่ๆควรจะเป็นจากรายงานงบการเงินของบริษัทที่ออกมาได้ไม่ดีมากนัก ฝากให้นักลงทุนทุกคนเฝ้าติดตามและศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

ความท้าทายที่กำลังจะมาเป็นบททดสอบของ DOHOME

ในปี พ.ศ. 2563 เป็นปีที่เศรษฐกิจของโลกกำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆมากมาย ตั้งแต่สงครามการค้า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความตึงเครียดระหว่างผู้ชุมนุมในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นก่อนในต่างประเทศ แต่ในไม่ช้าจะส่งผลกระทบมายังประเทศไทยอย่างแน่นอน ซึ่งธุรกิจวัสดุก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งจากราคาต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น การนำเข้า ส่งออก ที่มีข้อจำกัดส่งผลให้สินค้าขนส่งได้ยากลำบากมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด ความต้องการของสินค้าลดน้อยลงหรือหายไปเลย นี่คือปัญหาที่ผู้บริหารต่างๆต้องรีบหาทางแก้ไข้และรับมือ เพราะว่าธุรกิจวัสดุก่อสร้างเป็นธุรกิจที่จำเป็นที่จะต้องมี inventory ของสินค้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้า หมายความว่ายิ่งถ้ามีสินค้าอยู่ในคลังมากและนานเท่าไหร่ บริษัทก็จำเป็นที่จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มเข้าไปด้วย

ในช่วงวิกฤตผู้คนต่างใช้เงินอย่างประหยัดซึ่งถ้ามองให้ดีอาจจะมีโอกาสซ่อนอยู่ เพราะว่าถ้าบริษัทปรับรูปแบบของการจัดเก็บสินค้า จากสินค้าใหม่เพื่อตกแต่งบ้าน มาเป็นสินค้าหรืออุปกรณ์เพื่อซ่อมแซมบ้าน ซึ่งมีมาร์จิ้นสูงกว่าสินค้าจำพวกเหล็กหรือวัสดุก่อสร้างอื่นๆ และอาจจะตอบโจทย์คนในยุควิกฤตที่นิยมซ่อมแซมสินค้าแทนการซื้อใหม่ก็เป็นไปได้

ต่อมาปัญหาที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่คือยอดขายที่กำลังลดลง ทางแก้คือการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากพร้อมๆกันแต่การที่จะเพิ่มจำนวนสาขานั้นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทมีแผนที่จะเปิดสาขาขนาดใหญ่อีกจำนวน 6 สาขา โดยต้นทุนก่อสร้างของแต่ละสาขาเฉลี่ยอยู่ที่ 300 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800 ล้านบาท บวกกับการเปิดสาขา To Go ซึ่งเป็นหน้าร้านในห้างสรรพสินค้าอีก 87 สาขา โดยต้นทุนของสาขา To Go อยู่ที่ 5 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 435 ล้านบาท จากการคำนวณงบประมาณในการขยายกิจการของบริษัท จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2,200 ล้านบาท ซึ่งดูจากตัวเลขทางงบการเงินของบริษัท ที่มีค่า D/E หรือ Debt/Equity พูดให้เข้าใจง่ายๆคือสัดส่วนของหนี้ต่อทุน ที่ตอนนี้มีค่าที่ต่ำอยู่ที่ 1.76 เท่า ซึ่งทำให้บริษัทสามารถกู้เงินมาลงทุนได้อีกโดยที่ไม่กระทบต่อกำไรบริษัทมากนัก แต่การทำแบบนี้จะทำให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงตามมา เช่น ค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้น หรือ การถูกแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากคู่แข่ง พร้อมกับยอดขายที่ตกลงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะกลับมามียอดขายตามที่ต้องการได้

ซึ่งจากการเล็งเห็นปัญหาตรงนี้ทำให้บริษัทขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าจาก Offline มาเป็น Online ซึ่งปัจจุบันได้มีการทำธุรกิจกับทางบริษัท E-Commerce อย่าง LAZADA แต่ในสัดส่วนที่ไม่เยอะมากและเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีมาร์จิ้นที่สูง บวกกับลูกค้าหลักๆของบริษัทคือผู้รับเหมาก่อสร้างที่นิยมเข้ามาซื้อสินค้าที่หน้าร้านสาขามากกว่า

อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทคือ คู่แข่ง ซึ่งคณะผู้บริหารไม่ได้กังวลเรื่องที่ ไทวัสดุ จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้หุ้น CRC ของกลุ่ม Central เนื่องจากบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดแบบ Modern Trade ที่อยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว แต่คู่แข่งที่น่ากลัวจริงๆจะมาจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างร้านเล็กๆที่ขายสินค้าแบบเจาะจงประเภทของสินค้าไปเลยมากกว่า

“The measure of intelligence is the ability to change.”
― Albert Einstein

ความคิดเห็นของผู้เขียนต่อ หุ้น DOHOME

โดยส่วนตัวผู้เขียนได้ศึกษาและทำความเข้าใจธุรกิจวัสดุก่อสร้างมาระยะหนึ่งจากประสบการณ์ตรงของธุรกิจส่วนตัว ทำให้ได้รู้ว่าธุรกิจวัสดุก่อสร้างนั้นมีความจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และยังสามารถเติบโตตามการพัฒนาความเจริญของเมืองต่างๆในประเทศ การที่บริษัท ดูโฮม เป็นผู้ค้ารายใหญ่ส่งผลให้มีอำนาจต่อรองราคาต้นทุนสินค้าได้ดีกว่าผู้ค้ารายเล็กๆ แต่จะมีข้อเสียเปรียบตรงที่บริษัทไม่สามารถที่จะสั่งสินค้าที่เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะได้เนื่องจากมีจำนวนที่น้อย เช่น สินค้าตกแต่งบ้านที่มีรูปแบบเฉพาะ สไตล์โมเดิร์น ที่เจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ส่วนแบ่งทางการตลาดตรงนี้จะตกไปอยู่กับร้านค้าขนาดเล็กที่เจาะกลุ่มสินค้าโมเดิร์นโดยเฉพาะและสามารถขายสินค้าในราคาที่สูงได้ ทำให้มีมาร์จิ้นสูงกว่าการขายสินค้าพื้นๆที่คนส่วนใหญ่ใช้กันอย่างที่บริษัททำอยู่ บวกกับคู่แข่งที่เข้ามาจากต่างประเทศ อย่าง Mr. D.I.Y. จากมาเลเซีย และผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่อย่างประเทศจีน ซึ่งในอนาคตอาจจะลงมาเล่นเองในตลาดค้าปลีก ทำให้ถึงแม้ว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างจะมีมูลค่ามหาศาล แต่ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาได้เรื่อยๆ

ถ้าบริษัทไม่สามารถรักษาคุณภาพหรือบริการที่แตกต่างได้ ก็อาจจะเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไปให้กับผู้เล่นรายใหม่ได้ในไม่ช้า เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บางทีการที่บริษัทที่มีขนาดใหญ่หรือเป็นองค์กรที่มีพนักงานเยอะ การที่จะขยับหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานหรือบริหารอาจจะทำได้ยากมากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก และสุดท้ายก็อาจจะเป็นผู้ที่ถูกลืม เหมือนในอดีตที่ไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ครองโลกมานานนับล้านๆปี แต่พอโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันก็เป็นผู้แพ้ ส่วนผู้ที่ปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลกได้จะเป็นผู้อยู่รอด เหมือนต้นตระกูลของมนุษย์ที่ยังยึดครองโลกใบนี้ไว้ได้มาจนถึงปัจจุบัน ในวงการธุรกิจก็เช่นกัน มีหลายบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่แต่ไม่ยอมปรับตัวตามเทคโนโลยี ก็จะล้มหายตายจากไป เช่น NOKIA ที่ไม่ยอมปรับตัวจนถูกบริษัทหน้าใหม่อย่าง Apple มาแย่งตำแหน่งผู้นำตลาดไปในที่สุด

ผู้เขียน อภิภู อัครมโนธรรม ที่ปรึกษาการเงิน (IC, Derivative, IP, FChFP license) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Wealth Innovation Consulting จำกัด เจ้าของเพจลงทุน Investonia