ต้องบอกไว้ก่อนว่า ตัวผู้เขียนเองได้เข้ามาศึกษาหุ้นตัวนี้อย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ จนทำให้รู้สึกว่าเป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจมากตัวหนึ่ง ด้วยวิธีการบริหารและจัดการของบริษัทที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน และเป็นบริษัทที่สามารถปรับตัวได้ตามเทคโนโลยีของโลกได้ อะไรที่ทำให้หุ้นตัวนี้ยังสามารถยืนระยะมาได้นานในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันนี้เราจะไปทำความรู้จัก หุ้น SIS ตัวนี่ไปพร้อมๆกันครับ

SIS คือใคร ประกอบธุรกิจอะไร?

ผู้ ถือหุ้น sis

บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SIS จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ วันที่ 17 มิถุนายน 2541 เพื่อประกอบธุรกิจขายส่งคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วงและอุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติต่าง ๆ และเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2547 บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย บริษัทได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกมากกว่า 70 ราย ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย อาทิ Compaq, Acer, Hewlett Packard, Samsung, Lenovo, IBM, Toshiba, Apple, APC, Xerox, Linksys เป็นต้น โดยบริษัทฯ มีฐานลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการคอมพิวเตอร์อยู่ทั่วประเทศมากกว่า 7,000 ราย ที่เป็นผู้ประกอบการคอมพิวเตอร์ ทั้งที่เป็นร้านค้าปลีก บริษัทผู้ค้าที่จำหน่ายเข้าภาคธุรกิจและหน่วยงานราชการ และผู้รับวางระบบ ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น SIS เปรียบเสมือน Makro ที่เป็นร้านขายส่งสินค้าไปยังผู้ประกอบการอีกทีหนึ่ง หรือ ที่เรียกว่า B2B ( Business to Business ) ที่ไม่ได้ขายสินค้าไปยัง End Customer โดยตรง ซึ่งบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องมี Economic of Scale ที่มากพอเพื่อทำให้ต้นทุนสินค้าที่บริษัทได้รับมามีราคาที่ต่ำ สอดคล้องกับจำนวนผู้ประกอบการหรือหน่วยงานต่างๆที่ช่วยจำหน่ายสินค้าของบริษัทต้องมีจำนวนที่มากพอ เพื่อทำการต่อรองกับทาง Supplier ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หุ้น SYNEX

หุ้น SIS ภาพรวมของธุรกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วทั้งโลก

สินค้าหลักๆที่ผู้คนเอาไว้ใช้เพื่อเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันหลักๆแบ่งเป็น 3 อย่าง คือ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC), สมาร์ทโฟน, และ แท็ปเล็ต ซึ่งจากข้อมูลที่ได้มาจำนวนผู้ใช้ของแต่ละชนิดแบ่งได้ดังนี้

1. PC ในปี 2019 มีจำนวนเครื่องที่ส่งมอบทั้งสิ้น 266,690,000 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.7% และผู้ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดคือ Lenovo ด้วยจำนวน 64,768,000 เครื่องเพิ่มขึ้น 8.2% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็น 24.3% ของตลาดผู้ผลิต PC

2. Smart Phone ในปี 2019 มีจำนวนเครื่องที่ส่งมอบทั้งสิ้น 1,371,000,000 เครื่อง ลดลงจากปีก่อนหน้า 2.3% โดยผู้ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดคือ Samsung โดยคิดเป็น 21.60% ของตลาด แต่แบรนด์ที่น่าจับตาเป็นพิเศษคือ Huawei ที่ในปี 2019 ขึ้นมารั้งอันดับที่2 ในตลาดผู้ผลิต Smart Phone โดยมีอัตราการเติบโตจากปีก่อนหน้าที่สูงที่สุดอยู่ที่ 16.80%

3. Tablet ในปี 2019 มีจำนวนสินค้าที่ส่งมอบทั้งสิ้น 144,000,000 เครื่อง ลดลงจากปีก่อนหน้า 1.5% ซึ่งแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดและครองอันดับหนึ่งนั่นก็คือ Apple ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.60% และยังเป็นแบรนด์ที่มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 15.20% อีกด้วย

หุ้น SIS

โดยบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเดียวกันและเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ถือว่าแข่งขันกันโดยตรงในประเทศไทยมีอยู่ 5 บริษัทโดย อีก 4 บริษัทคือ

1)บริษัทซินเน็ค(ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน)“Synnex”

2)บริษัทวีเอสทีอีซีเอส(ประเทศไทย)จำกัด“VSTECS”

3)บริษัทอินแกรม ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด“Ingram”

4)บริษัทเวลเทคกรุ๊ปจำกัด“WellTech”

บริษัทที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดได้แก่ Synnex โดยที่บริษัท SIS มีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็น 21.49% ในปี 2561 ซึ่งบริษัทได้แบ่งธุรกิจตามประเภทสินค้าออกเป็นส่วนงาน (Business Unit) โดยส่วนงานใหญ่ มีสินค้าที่แตกต่างกัน ได้แก่ สินค้าเชิงพาณิชย์ สินค้าสำหรับผู้บริโภค สินค้ามูลค่าเพิ่ม สินค้าโทรศัพท์ และ ส่วนงานอื่น ซึ่งส่วนงานที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทมากที่สุดคือ ส่วนงานของ สินค้าสำหรับผู้บริโภค ที่มีรายได้ 8,011 ล้านบาทในปี 2562 แต่ที่น่าจับตาดูเป็นพิเศษคือ ส่วนงานอื่น ซึ่งเป็น Business Unit ที่ดูแลสินค้าใหม่ เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV, Smart Home, SIS Cloud Service เป็นต้น ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงที่สุดอยู่ที่ 25.7% และยอดขายมีการเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 84.7% ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่เติบโตสูงที่สุด

SIS หุ้น Pantip

ถ้าให้วิเคราะห์ในมุมของนักลงทุนต้องบอกว่าบริษัทควรที่จะมุ่งเน้นที่จะพัฒนาและต่อยอดสินค้าในกลุ่มนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพราะว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่ทำกำไรให้กับบริษัทมากที่สุด และถือว่าเป็นกลุ่มที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในกลุ่มธุรกิจอื่นๆนั้นมีการแข่งขันที่สูง ทำให้ต่อให้มียอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่อัตรากำไรลดลง ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปบริษัทอาจจะมีผลประกอบการที่ติดลบได้ จึงต้องรีบเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจและมามุ่งเน้นในส่วนที่บริษัททำได้ดีและได้กำไรมากที่สุด ส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจ Cloud Service กำลังได้เป็นที่นิยมมากขึ้น เช่นเดียวกับ Home Service ที่ประกอบไปด้วยสินค้าที่ใช้ภายในบ้านต่างๆ ผู้คนต่างให้ความสนใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้มากยิ่งขึ้น ถ้าบริษัทสามารถปรับตัวได้เร็วและขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดของกลุ่มสินค้านี่ได้จะถือว่าเป็นข้อได้เปรียบมหาศาลเนื่องจากสินค้าที่ใช้ภายในบ้านหรือระบบ Cloud ไม่เหมือนสินค้ากลุ่มอื่นๆที่ลูกค้าสามารถเปลี่ยนแปลงไปหาคู่แข่งได้เร็ว บริษัทจะได้กลุ่มลูกค้าที่เฉพาะมากขึ้นซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณาลงได้อย่างมาก

หุ้น SIS ระบบการจัดการความเสี่ยงของบริษัท

ต้องบอกว่าบริษัท SIS มีการจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไว้อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นจากปัจจัยภายนอกหรือภายใน สำหรับกรอบการบริหารความเสี่ยงนั้น บริษัทฯ ได้นำการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรของ COSO ERM 2013 (COSO Enterprise Risk Management Framework) มาใช้ โดยมีการกำหนดกลยุทธ์ โครงสร้างการและการความรับผิดชอบ กระบวนการ บริหารความเสี่ยงและส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้ตระหนักและเข้าใจในการบริหารความเสี่ยง โดยแบ่งความเสี่ยงหลักๆออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์, ความเสี่ยงจากการดำเนินการ, ความเสี่ยงด้านการเงิน, ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหาย ระเบียบ ข้อบังคับ, และความเสี่ยงด้านการทุจริต คอร์รับชั่น โดยเราจะให้ความสนใจในเรื่องของความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับผลประกอบการของบริษัท เช่นความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่มีผลต่อสินค้าคงคลัง เนื่องจากบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้า IT ที่ต้องการสินค้าที่มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้ผลิตสินค้าจะออกสินค้ารุ่นใหม่ๆมาสู่ตลาดอยู่ตลอดเวลา การที่บริษัททำหน้าที่เป็นตัวกลาง ย่อมมีความจำเป็นที่จะบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยบริษัทควบคุมสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่ต่ำ โดยมีนโยบายเก็บสินค้าคงคลังในช่วง 30-60 วันเท่านั้น โดยที่ถ้าเป็นสินค้าชนิดเดิมที่บริษัทมีประวัติอยู่แล้วจะเก็บไม่เกิน 30 วัน แต่ถ้าเป็นสินค้าใหม่ที่บริษัทนำเข้ามาจะทำการเก็บไว้ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งในปี 2562 ระยะเวลาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 45.6 วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ระยะเวลาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 39 วัน โดยมองได้ว่าบริษัทนั้นมีสินค้าใหม่ให้เข้ามาขายหลากหลายชนิดมากยิ่งขึ้น

งบการเงิน

ผู้ถือหุ้น SISB
งบการเงิน sis

จากงบการเงิน ยอดขายในไตรมาสแรกของปี 2563 นั้นสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ 8% บวกกับค่าใช้จ่ายในการขายและบริการที่ลดลง ทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจาก 0.27 ในไตรมาสแรกของปี 2562 มาเป็นที่ 0.37 ในปี 2563 ซึ่งถ้าบริษัทสามารถรักษาอัตรายอดขายไว้ได้ ณ สิ้นปี 2563 บริษัทจะมีประมาณการรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 21,680 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ไปดูในส่วนของสินทรัพย์ บริษัทได้มีการถือครองเงินสดเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกบริษัทควรจะทำในช่วงวิกฤตแบบนี้ โดยจากที่ดูงบการเงินของบริษัทสามารถบอกได้คร่าวๆว่าเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานเข้าเกณฑ์ที่ดีเนื่องจากบริษัทสามารถรักษาผลประกอบการให้เป็นบวกได้ในระยะยาว บวกกับอัตราหนี้สินต่อทุนที่ต่ำทำให้ในอนาคตบริษัทยังสามารถกู้เงินมาเพื่อขยายกิจการได้อีก และด้วยผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2563 ออกมาดี ทำให้ค่า P/E ของบริษัทนั้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มาก P/E ของบริษัท ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2563 อยู่ที่ 6.44 เท่า ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีค่า P/E อยู่ที่ 18.25 เท่า อยู่เกือบ 3 เท่า ถือว่าเป็นหุ้นที่นักลงทุนเน้นคุณค่าต้องให้ความสนใจ เพราะว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยังสามารถหาหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำกว่า 10 เท่าอยู่ในตลาดหุ้นไทยที่ถือว่าเป็นตลาดที่แพงกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ บวกกับเทรนของโลกที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นทำให้พื้นฐานของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงหรือ Technology Disruption มากนัก โดยส่วนตัวหลังจากศึกษาพื้นฐานของบริษัทมาในระดับหนึ่งถือว่าเป็นเพชรที่ซ่อนตัวอยู่แบบเงียบๆเพราะว่าบริษัทไม่ได้มีข่าวออกมาเยอะเท่าหุ้นอื่นๆ ทำให้นักลงทุนหลายๆคนมองข้ามไป แต่สำหรับคนที่มองเห็นโอกาสก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างงาม

กราฟ

หุ้น SISB

แค่ดูจากกราฟหุ้นก็สามารถเห็นได้ว่าหุ้น sis ตัวนี้กำลังอยู่ในเทรนขาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากจุดกลับตัวที่ราคาขึ้นมาจากจุดต่ำสุดที่ 5.20 บาท แล้วไปตัดขึ้นเส้นค่าเฉลี่ย 15 วัน แล้วทะยานขึ้นไปตัดเส้น 45 วันและ 100 วัน อย่างต่อเนื่องและราคายังคงไม่มีท่าทีว่าจะปรับตัวลงมาเนื่องจากยังไม่มีการทำ Low ใหม่ แตให้ระวังเนื่องจากค่า MACD ได้ทำท่าทีว่ากำลังจะตัดลง และ RSI ได้อยู่ในโซน Overbought หรือเกิน 70 มานานแล้ว ซึ่งถ้าราคาปรับฐานลงมาให้รอหาจังหวะเข้าซื้อ

วิกฤตไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรกับบริษัทบ้าง?

แน่นอนว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนไว้อยู่เสมอ ผู้ที่เตรียมตัวมาพร้อมเท่านั้นที่จะได้โอกาสนั้นไป ในช่วงวิกฤตหลายคนอาจจะรู้สึกว่าทุกอย่างมันแย่ เศรษฐกิจไม่ดี คนตกงาน บางคนถึงกับฆ่าตัวตายเพราะกลัวไม่มีข้าวกิน แต่ถ้าเรามองดีๆ วิกฤตทุกวันนี้ไม่ได้โหดร้ายเหมือนในอดีตที่ผ่านๆมา สิ่งที่คนยุคนี้เจอยังเทียบไม่ได้กับคนสมัยก่อนเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 การระบาดของเชื้อ Spainish Flu หรือไข้หวัดสเปนที่เป็นต้นกำเนิดของไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน ที่สมัยที่แพร่ระบาดได้มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 ล้านคนทั่วทั้งโลก ซึ่งทำให้ไวรัสโควิด-19 เป็นเด็กน้อยไปเลย อัตราการเสียชีวิตก็สูงกว่าไวรัสโควิด-19 หลายเท่าตัว เนื่องจากเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ซึ่งโลกของเราก็ยังสามารถหมุนต่อไปและได้พัฒนาไปอย่างที่คนสมัยก่อนไม่มีทางเข้าใจ เพราะสิ่งที่ขับเคลื่อนโลกสมัยใหม่ไม่ใช่กำลังทางการทหารอีกต่อไป แต่เป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ต ที่สามารถเชื่อมคนทั่วทั้งโลกไว้ด้วยกัน เริ่มยุค Globalization อย่างเต็มรูปแบบ และสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ เครื่องมือที่เอาไว้เชื่อมต่อ อินเตอร์เน็ต อย่าง PC, Smart Phone, Tablet หรือ Smart Watch ในยุคนี้ จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ที่กล่าวมานั้นทุกอย่างล้วนเป็นสินค้าที่บริษัท SIS มีเพื่อจำหน่ายแทบทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความเชื่อว่า ไม่ว่าโลกของเราจะเจอวิกฤตยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่สิ่งที่จะยังคงอยู่คู่กับโลกเราเสมอก็คือเทคโนโลยี

Set sis

โดยในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 นั้นบริษัทสามารถเพิ่มยอดขายได้มากกว่าช่วงเวลาเดียวกับของปีก่อนหน้า เหตุผลเป็นเพราะว่า ผู้คนช่วงที่กักตัวอยู่บ้านส่วนใหญ่จะซื้อของออนไลน์ผ่านบริษัท E-Commerce อย่าง Shopee, Lazada, JD Central เป็นต้น ซึ่งร้านค้าต่างๆที่เป็นลูกค้าของ SIS อีกทีก็ต่างมีหน้าร้านอยู่บน Platform เหล่านี้กันทั้งนั้น และจากข้อมูลในช่วงที่มีการกักตัว สินค้า IT มีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว บวกกับสินค้าเทคโนโลยีที่ใช้ภายในบ้านอย่าง เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัต เครื่องกรองอากาศ ของแบรนด์ Xiaomi ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากจนสินค้าขาดตลาด ซึ่งแบรนด์ Xiaomi เองก็เป็นหนึ่งในคู่ค้าของบริษัท SIS จะเห็นได้ว่าบริษัทได้รับผลกระทบทางบวกจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่หลังจากนี้บริษัทจะสามารถรักษายอดขายในระดับนี้ได้ต่อไปหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการบริการและความต้องการของลูกค้าที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สรุปสั้นๆว่าบริษัทกำลังคว้าโอกาสในวิกฤตครั้งนี้อยู่ และถ้าบริษัทสามารถใช้โอกาสตรงนี้ต่อยอดความสำเร็จได้ในอนาคต ก็จะทำให้มีการเติบโตที่ยั่งยืนได้

ความคิดเห็นผู้เขียนต่อ หุ้น SIS

หลังจากที่เข้าใจรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัท ทำให้คิดว่าทุกๆอย่างมีเบื้องหลังเสมอ การที่เราไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอะไรก็ตาม มันไม่ได้มีแค่นั้น แต่เราสามารถย้อนกลับไปถึงต้นทางของมันได้ กว่าจะมาเป็นมือถือที่วางจำหน่ายอยู่บนหน้าร้าน ไม่ใช่ว่าผู้ผลิตสินค้าเสร็จแล้วจะเอามาวางขายให้ผู้ใช้ได้เลย การได้เรียนรู้บริษัทและ หุ้น SIS ทำให้ทราบว่า คำว่าลูกค้าอาจจะไม่ได้หมายถึงลูกค้าคนสุดท้ายเสมอไป เพราะว่าตั้งแต่เริ่มแรก ลูกค้าของผู้ผลิตคือ SIS ต่อมาลูกค้าของ SIS คือ ร้านค้าทั้วไปอย่าง COM7, JIB, IT CITY เป็นต้น และถึงค่อยมาเป็นลูกค้าคนสุดท้ายอย่างผู้บริโภคแบบพวกเรา ซึ่งการเข้าใจแบบนี่จะทำให้รู้ว่า ต้นทุนจริงๆของตัวสินค้านั้นถูกกว่าราคาขายที่หน้าร้านอยู่มาก เพราะการที่มีตัวกลางเยอะแสดงว่ากำไรได้โดนบวกเข้าไปในราคาสินค้าเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทผู้ผลิตบางรายก็เลือกที่จะขายสินค้าโดยตรงสู่ผู้บริโภคโดยไม่ผ่านตัวกลางเลย เช่น Apple และ Tesla บริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่องของความทันสมัยของเทคโนโลยี พอเป็นแบบนี่จะไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบริษัท Apple ถึงมีกำไรมหาศาล เพราะว่าบริษัทสามารถตัดคนกลางอย่าง SIS หรือ COM7 ลงไปได้ การขายสินค้าโดยตรงให้ลูกค้าทำให้บริษัทมีข้อได้เปรียบในเรื่องของราคาและการบริการที่สามารถควบคุมทุกอย่างไว้เองได้ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีแก่บริษัทคนกลางอย่าง SIS เลย เพราะว่าถ้าทุกๆบริษัทประกาศพร้อมกันว่าจะขายสินค้าโดยตรงให้แก่ผู้ใช้เองเลย บริษัทคนกลางอย่าง SIS อาจจะถึงขั้นล้มละลายได้ภายในพริบตา เพราะฉะนั้นบริษัทต้องอย่าประมาทเพราะว่านี่อาจจะเป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ (Emaering Risk) ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่บริษัทยังไม่ทันตั้งตัว.


นักลงทุนแต่ละคนควรทำหน้าที่เป็นนักลงทุนอย่างสม่ำเสมอไม่ควรนักเก็งกำไร “- Ben Graham – investingchoice

ผู้เขียน อภิภู อัครมโนธรรม ที่ปรึกษาการเงิน (IC, Derivative, IP, FChFP license) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Wealth Innovation Consulting จำกัด เจ้าของเพจลงทุน Investonia