สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร อาจจะไม่ค่อยได้มีโอกาสเข้าไปใช้บริการของ Makro บ่อยมากนัก แต่สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายสินค้าบริโภคทั่วไปต้องคุ้นเคยกับการให้บริการของ Makro อย่างแน่นอน เพราะว่า Makro ถือว่าเป็นแหล่งค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่และเข้าถึงได้ง่ายสำหรับบุคคลทั่วไป วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับหุ้น Makro กันให้ลึกมากขึ้น ว่ามีโอกาสทางธุรกิจอะไรซ่อนอยู่ให้หุ้นตัวนี้บ้าง
Makro มีต้นกำเนิดมาจากไหน?
บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือที่เราเรียกกันว่า Makro จดทะเบียนจัดตั้งในเดือนพฤษภาคม 2531 ด้วยทุนจดทะเบียน 750 ล้านบาท สาขาแรกที่เปิดให้บริการคือ สาขาลาดพร้าว ในปี 2532 หรือกว่า 30 ปีที่แล้ว ซึ่งแม็คโครก่อตั้งขึ้นโดยมีวิสัยทัศน์ว่า จะมุ่งเป็นที่หนึ่งในอาเซียนเรื่องการจัดหาสินค้าเพื่อธุรกิจอาหารแบบครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพ โดยตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินกิจการตามวิสัยทัศน์และพันธกิจมาเป็นอย่างดี ด้วยการขยายกิจการสาขาออกไปมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย ณ สิ้นปี 2562 แม็คโคร มีศูนย์จําหน่ายสินค้าในประเทศไทย 134 สาขา ศูนย์จําหน่ายสินค้าในต่างประเทศ 6 สาขา และ ร้านค้าของ กลุ่มธุรกิจฟูดเซอร์วิส ในสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 สาขา
“Sometimes your best investment are the ones you don’t make” – Donald Trump
ข้อได้เปรียบของแม็คโครที่น่าสนใจ
ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 172,800 ล้านบาท และแม็คโครเป็นธุรกิจรูปแบบร้านค้าส่งขนาดใหญ่บริการตนเอง (Cash & Carry) ซึ่งถือว่าเป็นผู้เล่นเพียงรายเดียวในธุรกิจประเภทนี้ ทำให้มีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมหาศาล บวกกับการที่เป็นบริษัทที่รับชำระสินค้าเป็นเงินสด ทำให้ตัวบริษัทถือครองเงินสดอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก ณ สิ้นไตรมาสที่หนึ่งของปี 2563 บริษัทมีเงินสดอยู่ที่ 7,000 กว่าล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับการประกอบธุรกิจ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพคล่องของบริษัทในช่วงที่เจอกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 เหมือนบริษัทอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้บริษัทเป็นที่จับตามองของมหาเศรษฐีในเมืองไทยที่อยากได้แม็คโครมาครอบครอง และในที่สุดก็เป็นคุณ ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ใช้ CPALL เข้าซื้อหุ้นของ Makro ในปี 2556 จากบริษัท เอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ บี.วี. จนได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การเข้ามาของกลุ่ม CP ได้เปลี่ยนแปลงธุรกิจของแม็คโครไปอย่างก้าวกระโดด ด้วยประสบการณ์การทำธุรกิจและ Connection ของกลุ่ม CP ทำให้แม็คโครเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งเอเชีย และได้เปิดสาขาต่างประเทศครั้งแรกที่ประเทศกัมพูชา ในกรุง Phnom Penh และขยายตัวไปประเทศอื่นๆอีกมากมาย
เงินมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท ที่ CPALL จ่ายไปนั้น เมื่อเทียบกับโอกาสทางธุรกิจที่จะได้รับมานั้นถือว่าคุ้มค่า เนื่องจากบริษัทของคุณ ธนินท์ นั้นทำธุรกิจเกี่ยวกับการบริโภคอาหารเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย โดยการที่ได้ Makro เข้ามาร่วมด้วยจะทำให้พื้นฐานการให้บริการนั้นครบวงจรมากยิ่งขึ้นต้องขออธิบายรูปแบบของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยควบคู่ไปด้วย เพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน สําหรับรูปแบบร้านค้าปลีกค้าส่งในประเทศไทยในปัจจุบัน สามารถจัดแบ่งได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้
1) ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ (Discount Store/ Supercenter/ Hypermarket) หมายถึง ร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ขายตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป จําหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจําวันทั้งหมวดอาหาร (Food) และหมวดที่มิใช่อาหาร (Non-Food) มีกลยุทธ์การตลาดที่ สำคัญคือ รูปแบบร้านค้า ทันสมัย ทำเล สิ่งอำนวยความสะดวก และสามารถจำหน่ายสินค้าที่ต่ำกว่าราคาตลาด ได้แก่ เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี
2) ร้านค้าส่งขนาดใหญ่บริการตนเอง (Cash & Carry) หมายถึง ร้านค้าส่งที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป จําหน่วยสินค้า อุปโภคบริโภคในชีวิตประจําวัน ทั้งหมวดอาหาร (Food) และหมวดที่มิใช่อาหาร (Non Food) โดยสัดส่วนหมวดอาหาร (Food) มากกว่า สินค้าหมวดที่มิใช่อาหาร (Non-Food) และขายสินค้าในปริมาณมาก หรือเป็นขนาดหีบห่อ (pack size) ราคาขายส่ง ได้แก่ แม็คโคร
3) ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) หมายถึงร้านค้าปลีกที่มี่ พื้นที่ขายตั้งแต่ 400 ตารางเมตรขึ้นไป จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจําวัน โดยเฉพาะหมวดอาหารที่มีความสดใหม่และหลากหลายของสินค้า และหมวดอื่น ๆ ราคาจําหน่ายตามราคาตลาด เช่น ท๊อปส์ ฟู้ดแลนด์ เป็นต้น
4) ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Stores/ Express/ Mini Mart) หมายถึงร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ขายตั้งแต่ 40 ตารางเมตรขึ้นไป จําหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจําวัน ทั้งสินค้าอาหารและสินค้าประเภทที่มิใช่อาหาร เน้นการบริการ ให้ความสะดวกแก่ลูกค้า จึงเลือกที่จะตั้งร้านในแหล่งชุมชน และเปิดบริการ 24 ชั่วโมง เช่น 7 – Eleven FamilyMart เป็นต้น
5) ห้างสรรพสินค้า (Department Store) หมายถึง ร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ขายตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป จําหน่ายสินค้าหลากหลายชนิด โดยเน้นสินค้าประเภทที่มิใช่อาหาร สินค้าที่ ทันสมัยคุณภาพสูง จัดเรียงสินค้าเป็นแต่ละแผนกอย่างชัดเจน ราคาจำหน่ายตามราคาตลาด หรือสูงกว่าราคาตลาด โดยมีพนักงานบริการหน้าเคาน์เตอร์/พนักงานเดินบิล เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เดอะมอลล์ โรบินสัน เป็นต้น
6) ร้านสินค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Store) และร้านสินค้าเฉพาะอย่างราคาถูก (Category Killer) หมายถึง ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มี พื้นที่ขายตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป และขนาดเล็กที่มีพื้นที่ขายตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป จําหน่ายสินค้าประเภทที่มิใช่อาหาร เฉพาะอย่าง มีความหลากหลายในชนิดสินค้าหรือรูปแบบของผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์ เพื่อความงามหรือเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น โดยมีพนักงานเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสินค้านั้นๆ มาบริการให้ คําแนะนําอย่างมีคุณภาพ ราคาสินค้าค่อนข้างสูง เช่น วัตสัน บู๊ทส์ เป็นต้น
ในต้นปี 2563 CP ได้เข้าซื้อกิจการของ Tesco Lotus ได้สำเร็จ โดยที่บริษัทเคยเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทนี้เอง และ Tesco Lotus จะทำให้ CP กลายเป็นผู้นำตลาดโมเดิร์นเทรดอย่าขาดลอย ซึ่งจะมี Economies of Scale แบบที่คู่แข่งรายอื่นสู้ไม่ได้ รวมไปถึงอำนาจในการต่อรองกับคู่ค้าจะแข็งแกร่งที่สุดในประเทศ เพราะเป็นเจ้าของช่องทางการขายทั้ง ร้านสะดวกซื้อ (7-11), ร้านค้าส่ง (Makro) และ ร้านค้าปลีก (Tesco Lotus)ซึ่งครอบคลุมทุกช่องทางการจัดจำหน่ายไว้เป็นที่เรียบร้อย
งบการเงิน
จากงบการเงิน จะเห็นได้ว่าหุ้น Makro มีพื้นฐานที่แข็งแรงมากบริษัทหนึ่ง ดูจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ 2560 – 2562 และในปีนี้ ไตรมาสแรกก็ทำยอดขายได้มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างความสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 30 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสามารถทำได้ บวกกับแม็คโครเป็นบริษัทที่ถือครองเงินสดสูงมากอย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีสภาพคล่องสูง และแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการเงินสดหมุนเวียนของบริษัทที่ดี การมีแผนที่จะขยายจำนวนสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศยิ่งทำให้ในอนาคตบริษัทสามารถเพิ่มยอดขายได้อีก เหมือนอย่างสโลแกนของบริษัทที่พูดว่า “Makro คู่คิดธุรกิจคุณ” ที่ยิ่งธุรกิจต่างๆเติบโตบริษัทยิ่งได้รับผลประโยชน์ สรุปได้ว่าเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ทีมผู้บริหารมีประสบการณ์ มีแผนในอนาคตเพื่อเพิ่มรายได้ของบริษัท สามารถก้าวผ่านวิกฤตต่างๆมาได้ เป็นบริษัทที่ไม่มีคู่แข่งทางตรงเลย ถือว่าผูกขาดในกลุ่มธุรกิจค้าส่ง ถือว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนเน้นคุณค่าได้
กราฟ
จากกราฟ ราคาหุ้น Makro ถือว่าไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ถ้าย้อนกลับไปดูราคาหุ้นของบริษัท จะสังเกตได้ว่าราคาหุ้น Makro ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2561 นั้นจะ Sideway อยู่แค่ในกรอบช่วงราคา 40-30 บาท ไม่ไปไหน การที่ในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงจนติด Circuit Breaker ถึงสองวันติด แต่หุ้น Makro ลงไปแค่ 13% ต้องถือว่าแข็งแกร่งมากๆ เพราะว่าหุ้นใหญ่ๆไม่ว่าจะเป็น PTT AOT CRC ต่างโดนเทขายลงมาอย่างหนักจากนักลงทุน นอกจากนั้นบริษัทยังใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ที่ทำให้ราคาหุ้นกลับไปซื้อขายอยู่ในช่วง 30-40 บาทได้อีกครั้ง แต่หลังจากนี้ราคาหุ้นจะไปทางไหนต้องมาดูที่แท่งเทียนของราคาหุ้นกัน จากกราฟ ตอนนี้ราคาอยู่ระดับเดียวกับเส้นค่าเฉลี่ย 15 วันแล้ว MACD เริ่มอ่อนแรงจากการตัดลงเมื่อ 3 วันก่อนหน้า ค่า RSI เริ่มปรับตัวลงมาอยู่ในโซนปกติ ทำให้เห็นถึงความร้อนแรงของการซื้อขายที่ลดลง ช่วงนี้ต้องรอดูว่าราคาจะปรับลงมาอีกหรือไม่ เพราะว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ราคาจะไม่ไปไหน พอวิ่งขึ้นไปใกล้ 40 บาท ก็จะปรับตัวลงมา และพอราคาลงมาใกล้ 30 บาท ก็จะมีแรงซื้อเพื่อดึงกลับไปเป็นการเคลื่อนที่แบบ Sideway จึงทำให้ราคาหุ้นไม่ไปไหนและนักลงทุนไม่ค่อยจับตาดูหุ้น Makro เท่าไหร่
วิกฤตไวรัสโควิด-19 กระทบกับ Makro มากน้อยแค่ไหน?
ก่อนอื่นต้องบอกว่า กลุ่มลูกค้าของแม็คโครนั้นส่วนใหญ่คือผู้ประกอบการ เช่น ร้านค้าทั่วไป และ กลุ่มลูกค้าที่เรียกว่า HORECA ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้หมายถึง ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรม (Hotel) ร้านอาหาร (Restaurant) รวมไปถึง การจัดเลี้ยง (Catering) ปัจจุบัน ลูกค้ากลุ่ม HORECA มีสัดส่วนประมาณ 27% ของรายได้ของ Makro หรือเกือบ 57,000 ล้านบาท แน่นอนว่าเพราะการระบาดของ COVID-19 ทำให้ตลาดลูกค้ากลุ่ม HORECA ที่กำลังไปได้ดี กลับต้องมาหยุดชะงัก ตอนนี้ ลูกค้ากลุ่ม HORECA กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลจากการที่จำนวนนักท่องเที่ยว 2 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงอย่างมาก จำนวนนักท่องเที่ยว 2 เดือนแรกปี 2562 เท่ากับ 7.3 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยว 2 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับ 5.8 ล้านคน แค่ 2 เดือนแรก นักท่องเที่ยวลดลงไปแล้วกว่า 1.5 ล้านคน หรือประมาณ 20% พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้โรงแรมหลายแห่งไม่มีนักท่องเที่ยวมาพักงานอาหารและจัดเลี้ยงต้องถูกยกเลิก เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการชุมนุมของคนจำนวนมาก
ร้านอาหารหลายแห่งที่ไม่มีบริการจัดส่งเริ่มขายลำบากมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าไม่ออกจากบ้าน ถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะคิดว่า แม็คโครคงไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีข่าวการแย่งกับซื้อสินค้าและกักตุนอาหารกันในหลายพื้นที่ ยอดขายของ Makro น่าจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ในเมื่อผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดใหญ่กำลังประสบปัญหา ยอดในการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าเหล่านี้ก็จะลดน้อยลงหรือหายไปเลย และแน่นอนว่ากระทบยอดขายของบริษัทในระยะยาว ถึงแม้ว่าช่วงกักตัวผู้คนจะมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าในแม็คโครกันเป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น สาเหตุมาจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นบุคคลทั่วไป ไม่ได้มีกำลังในการบริโภคสินค้าที่รวดเร็วเหมือนที่ร้านอาหารหรือธุรกิจโรงแรมมี และการที่ลูกค้ากลุ่ม HORECA ประสบปัญหาทางด้านการเงิน อาจจะส่งผลให้หลายๆกิจการต้องปิดตัวลง และผลที่ตามมาก็คือ แม็คโครจะสูญเสียลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากและสม่ำเสมอไป เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า ทุกๆธุรกิจนั้นมีความเชื่อมโยงกัน ไม่มากก็น้อย การที่มีหนึ่งธุรกิจต้องล้มหายไป อาจจะส่งผลกระทบต่ออีกหลายๆธุรกิจได้ในไม่ช้า ถึงแม้ว่า ณ ตอนนี้รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตราการลงมาแล้วบ้าง แต่ด้วยความกังวลที่ยังมีอยู่ หลายๆบริษัทก็ยังไม่สามารถกลับมายังจุดเดิมที่เคยอยู่ได้ก่อนช่วงวิกฤต ต้องรอติดตามต่อไปว่าประเทศไทยจะได้รับข่าวดีได้เมื่อไหร่ และเมื่อถึงเวลาที่ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ การใช้จ่ายบริโภคจะกลับมาและนักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอน
“The Way Get Started Is To Quit Talking And Begin Doing.” – Walt Disney
ความคิดเห็นของผู้เขียน
ส่วนตัวถือว่าเป็นคนที่ชอบเดิน Makro อยู่แล้ว เนื่องจากสินค้ามีความหลากหลายและราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับห้างหรือร้านค้าทั่วไป และยังมองเห็นถึงโอกาสที่ Makro สามารถต่อยอดออกไปได้อีกมาก เช่น การปรับใช้การจ่ายเงินผ่านแอปบนมือถือ การจัดส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้า และ การจับมือร่วมทุนกับบริษัทในต่างประเทศ ทั้งนี้ถือว่า CP ตัดสินใจถูกต้องที่เข้ามาซื้อกิจการ Makro เนื่องจากจะได้ธุรกิจค้าส่งที่ผูกขาดแล้ว ยังรวมไปถึงที่ดินที่บริษัทมี ซึ่งเป็นขนาดพื้นที่ที่ใหญ่มากเมื่อเอาที่ดินของทุกสาขามารวมกัน ดีลธุรกิจของทั้ง2บริษัทนี้ยิ่งใหญ่ จนทำให้ในช่วงก่อนที่ CPALL จะประกาศซื้อกิจการ Makro มีผู้บริหารของ CPALL ท่านหนึ่ง ได้ทำการขายหุ้นของตัวเองทั้งพอร์ทเพื่อมาซื้อหุ้นของ Makro เนื่องจาก Makro ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วตั้งแต่ปี 2537 ทำให้การซื้อขายหุ้นของบริษัทต้องทำการซื้อขายกันผ่านตลาดหลักทรัพย์ที่ราคาหุ้นมีความผันผวน ซึ่งในตอนนั้น ราคาหุ้น MAKRO อยู่ที่ประมาณ 500 บาท และราคาที่ CPALL ทำคำเสนอซื้อนั้นสูงถึง 787 บาทต่อหุ้น ทันทีที่ข่าวประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะเข้าซื้อที่ราคานี้ หุ้น MAKRO ก็พุ่งพรวดขึ้นไปแถวๆ 780 บาททันที เพราะนักลงทุนทั้งตลาดรู้กันแล้วว่าราคาที่เหมาะสมของมันคือเท่าไหร่ แต่ผู้บริหารท่านนี้ได้เข้าซื้อหุ้นของ Makro เป็นยอดเงินสูงถึง 64 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนหุ้น MAKRO ประมาณ 120,000 หุ้นที่ราคาราวๆ 530 บาท หลังจากนั้นสองอาทิตย์ CPALL ก็ประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 เมษายน 2013 ว่าจะเข้าซื้อหุ้น MAKRO ทั้งหมดที่ราคา 787 บาท ทำให้ผู้บริหารท่านนี้ทำกำไรได้กว่า 50% ภายในเวลาแค่สองอาทิตย์ แต่สุดท้ายเรื่องก็จบไม่สวย ผู้บริหารท่านนี้โดนกลต. ตรวจสอบและพบว่าได้ใช้ข้อมูลวงในเพื่อการซื้อขายหุ้น และโดนปรับเงินเป็นจำนวนกว่า 30 ล้านบาท เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การเอาเปรียบผู้อื่นหรือการใช้อำนาจความสามารถในทางที่ผิดอาจจะส่งผลร้ายมาหาตัวคุณได้ อย่าให้ความโลภมาครอบงำจิตใจคุณ จงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีและชีวิตก็จะมีความสุข
ผู้เขียน อภิภู อัครมโนธรรม ที่ปรึกษาการเงิน (IC, Derivative, IP, FChFP license) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Wealth Innovation Consulting จำกัด เจ้าของเพจลงทุน Investonia